Sunday, April 12, 2020

Coconut Oil


Coconut Oil

      น้ำมันมะพร้าว ( coconut oil ) เป็นน้ำมันพืช ( vegetable oil ) ที่สกัดได้จากเนื้อในของมะพร้าว ( coconut  ) ซึ่งมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Cocos nucifera น้ำมันมะพร้าวมีปริมาณน้ำมันร้อยละ 63-68 เป็นน้ำมันพืชที่มีกรดไขมันอิ่มตัว ประมาณร้อยละ 90 กรดไขมันอิ่มตัวที่พบมากในน้ำมันมะพร้าวคือ กรดลอริก ( lauric acid ) อยู่ประมาณ 50% น้ำมันมะพร้าวมีกรดไขมันอิ่มตัวที่มีจุดหลอมเหลวต่ำ จึงเปลี่ยนสถานะเป็นไขเมื่อสัมผัสกับอากาศเย็น


มาตรฐานน้ำมันมะพร้าว

       น้ำมันมะพร้าวเป็นอาหารควบคุมเฉพาะ ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 57 ( พ.ศ. 2524 ) เรื่อง น้ำมันมะพร้าว กำหนดให้น้ำมันมะพร้าวที่ผลิตเพื่อจำหน่าย นำเข้าเพื่อจำหน่าย หรือที่จำหน่าย เพื่อใช้รับประทานหรือใช้ปรุงแต่งอาหาร ต้องมีคุณภาพหรือมาตรฐาน ดังต่อไปนี้

       (1) มีค่าของกรด ( acid value ) ไม่เกิน 4.0 มิลลิกรัม โพแทสเซียมไฮดรอกไซด์ ต่อน้ำมัน 1 กรัม สำหรับน้ำมันมะพร้าวที่ทำโดยวิธีธรรมชาติ และไม่เกิน 0.6 มิลลิกรัม โพแทสเซียมไฮดรอกไซด์ต่อน้ำมัน 1 กรัม สำหรับน้ำมันมะพร้าวที่ทำโดยวิธีผ่านกรรมวิธี

       (2) มีค่าเพอร์ออกไซด์ ( peroxide value ) ไม่เกิน 10.0 มิลลิกรัมสมมูลเพอร์ออกไซด์ออกซิเจนต่อน้ำมัน 1 กิโลกรัม

       (3) มีส่วนประกอบของกรดไขมัน ( fatty acid ) เป็นร้อยละของกรดไขมันทั้งหมด โดยใช้วิธีก๊าซลิควิดโครมาโตกราฟฟีหรือจีแอลซี ( Gas Liquid Chromatography หรือ GLC )

      (4) มีค่าสปอนิฟิเคชัน ( saponification value ) ระหว่าง 248 ถึง 265 มิลลิกรัมโพแทสเซียมไฮดรอกไซด์ต่อน้ำมัน 1 กรัม

       (5) มีค่าไอโอดีนแบบวิจส์ ( Iodine value, Wijs ) ระหว่าง 6 ถึง 11

       (6) มีสารที่สปอนิฟายไม่ได้ ( unsaponifiable matter ) ไม่เกินร้อยละ 1.5 ของน้ำหนัก

       (7) มีสิ่งที่ระเหยได้ ( volatile matter ) ที่อุณหภูมิ 105 องศาเซลเซียส ไม่เกินร้อยละ 0.2 ของน้ำหนัก

       (8) มีปริมาณสบู่ ( soap content ) ไม่เกินร้อยละ 0.005 ของน้ำหนัก

       (9) มีกลิ่นและรสตามลักษณะเฉพาะสำหรับน้ำมันมะพร้าว

       (10) มีสิ่งอื่นที่ไม่ละลาย ( insoluble impurities ) ไม่เกินร้อยละ 0.05 ของน้ำหนัก

       (11) ไม่มีกลิ่นหืน

       (12) ไม่มีน้ำมันแร่


ประโยชน์ต่อสุขภาพของน้ำมันมะพร้าว

       กรดลอริก ( lauric acid ) ในน้ำมันมะพร้าว เมื่อบริโภคเข้าไปในร่างกายจะเปลี่ยนเป็โอมโนกลีเซอไรด์ ( monoglyceride ) ที่มีชื่อว่า มอโนลอริน ( monolaurin  ) ซึ่งเป็นสารชนิดเดียวกับที่อยู่ในน้ำนมมารดา ที่ช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้กับทารกในระยะ 6 เดือนแรก ที่ร่างกายยังไม่สร้างระบบภูมิคุ้มกันโรค และเป็นสารปฏิชีวนะที่ทำลายเชื้อโรค สามารถฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ( bacteria ) เชื้อรา ( mold ) ยีสต์ ( yeast ) โปรโตซัว และไวรัส

- END -