Monday, April 13, 2020

Fillet Red Meat


Fillet Red Meat

      Fillet หมายถึง เนื้อปลา หรือ เนื้อ หมู ไก่ ที่เลาะเอาก้างหรือกระดูกออกแล้ว ตัดเป็นชิ้นยาวแคบ อาจหั่นด้วยมีด หรือใช้เครื่องจักร เรียกว่า filleting machine


- - - - - - - - - - - - - - - - - - -  

       Red Mea- ในเรื่องการทำอาหารของชาวตะวันตก เนื้อแดง ( red meat ) ปกติจะแดงเมื่อยังสด และมีสีเข้มขึ้นเมื่อสุก เทียบกับกับ "เนื้อขาว" ที่มีสีออกซีด ๆ ทั้งสดทั้งสุก เนื้อจากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหรือสัตว์ปีกเท่านั้น ( ไม่รวมปลา ) จะจัดเป็นเนื้อแดงเนื้อขาว ในโภชนศาสตร์ เนื้อแดงหมายถึงเนื้อใดก็ได้ที่มีโปรตีนไมโยโกลบินมากกว่า "เนื้อขาว" ที่นิยามว่า เป็นเนื้อสีไม่เข้มจากไก่ ( ไม่รวมน่องหรือขา ) หรือจากปลา เนื้อบางอย่าง เช่น เนื้อหมู จัดเป็นเนื้อแดงตามโภชนศาสตร์ แต่จัดเป็นเนื้อขาวตามการทำอาหาร


โภชนาการ

       เนื้อแดงมีแร่ธาตุและวิตามินต่าง ๆ รวมทั้งธาตุเหล็ก, creatine, สังกะสีและฟอสฟอรัส, วิตามินบี (  รวมทั้งไนอาซิน วิตามินบี12 ไทอามีน และไรโบเฟลวิน ) เป็นแหล่งหนึ่งของ alpha lipoic acid

       เนื้อแดงมีวิตามินดีเล็กน้อย โดยตับจะมีจำนวนมากที่สุดในบรรดาส่วนต่าง ๆ

       ในปี 2011 กระทรวงเกษตรสหรัฐเริ่มโครงการอาหาร MyPlate ซึ่งไม่ได้จำแนกเนื้อเป็นชนิดต่าง ๆ แต่ก็แนะนำให้ทานปลาอย่างน้อย 227 กรัมต่อสัปดาห์ ในปีเดียวกันคณะสาธารณสุขศาสตร์ของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดก็ได้เริ่มโครงการ Healthy Eating Plate ส่วนหนึ่งก็เพราะมองว่า คำแนะนำของกระทรวงเกษตรไม่ดีพอ โครงการแนะนำให้ผู้บริโภคเลี่ยงเนื้อแปรรูปและจำกัดการทานเนื้อเพียงแค่ 2 ครั้งต่ออาทิตย์เพราะสัมพันธ์กับโรคหัวใจ โรคเบาหวาน และมะเร็งลำไส้ใหญ่ โดนแนะนำให้ทานปลา ไก่ พืชถั่วหรือเมล็ดถั่วแทน


สุขภาพมนุษย์

       เนื้อแดงไม่ใช่ผลิตภัณฑ์ที่เหมือนกันทั้งหมด ผลต่อสุขภาพจะขึ้นอยู่กับไขมันที่มีและกระบวนการแปรรูป เนื้อแดงแปรรูปสัมพันธ์กับอัตราการตายที่สูงกว่า โดยหลักเนื่องกับโรคหัวใจร่วมหลอดเลือดและมะเร็ง แต่ก็มีหลักฐานด้วยว่าการบริโภคเนื้อแดงที่ไม่ได้แปรรูปก็อาจมีผลลบต่อสุขภาพของมนุษย์


อันตราย

       ความเห็นพ้องว่าการบริโภคเนื้อแดงมีผลเพิ่มความเสี่ยงโรคหัวใจร่วมหลอดเลือดได้เปลี่ยนไปเมื่อเร็ว ๆ นี้ งานศึกษาที่แยกแยะผลของเนื้อแปรรูปและเนื้อสดไม่พบความสัมพันธ์ระหว่างเนื้อแดงที่ไม่ได้แปรรูปกับโรคหัวใจ งานวิเคราะห์อภิมานขนาดใหญ่ของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดปี 2010 ซึ่งรวมข้อมูลของคน 1 ล้านคนที่ทานเนื้อพบว่า เนื้อแปรรูปเท่านั้นมีผลลบต่อโรคหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจ ( CHD ) งานศึกษาจึงเสนอว่า "ความแตกต่างของเกลือและสารกันเสีย ไม่ใช่ไขมัน อาจอธิบายความเสี่ยงโรคหัวใจและโรคเบาหวานที่สูงกว่าดังที่เห็นกับเนื้อแปรรูป แต่ไม่เห็นกับเนื้อแดงที่ไม่ได้แปรรูป" กลไกที่เสนอว่าทำไมการบริโภคเนื้อแดงจึงเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อโรคหัวใจร่วมหลอดเลือดรวมทั้งผลของมันต่อคอเลสเตอรอลในเลือด , เนื้อแดงมีกรด arachidonic acid , มีเหล็กแบบ heme , มี homocysteine และมีไขมันอิ่มตัวสูง

       งานศึกษาหลายงานได้พบความสัมพันธ์ระหว่างเนื้อแดงที่ไม่ได้แปรรูปกับการเกิดโรคหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจ ( CHD ) และโรคหลอดเลือดสมองบางประเภทโดยได้ควบคุมปัจจัยเสี่ยงที่เป็นตัวแปรกวนหลายอย่างแล้ว  งานศึกษาในหญิง 84,000 คนเป็นเวลา 26 ปี พบว่า ผู้ที่ทานเนื้อแดงไม่ได้แปรรูปมากที่สุด เสี่ยงโรค CHD สูงขึ้น 13%  เช่นเดียวกัน งานศีกษาของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดปี 2012 พบว่า การบริโภคเนื้อแดงที่ไม่ได้แปรรูปปริมาณที่หนึ่งต่อวัน ( ประมาณ 42 กรัม/วัน ) เพิ่มความเสี่ยงตาย 13% ส่วนเนื้อแดงที่แปรรูปปริมาณเท่ากันเพิ่มความเสี่ยงตาย 20% แม้อัตราทั้งสองจะรวมทั้งโรคมะเร็งและโรคหัวใจร่วมหลอดเลือด ( CVD ) แต่งานศึกษาก็บ่งว่า ในบรรดาผู้เสียชีวิต 23,926 ราย ที่ได้ตรวจสอบเมื่อกำลังทำงานศึกษา 5,910 รายเสียชีวิตเนื่องกับ CVD  การเสียชีวิตสัมพันธ์กับเนื้อแปรรูปและกับเนื้อไม่ได้แปรรูปโดยไม่ต่างกันอย่างสำคัญ

       ความต่างกันระหว่างงานวิเคราะห์อภิมานต่าง ๆ จะต้องหาข้อยุติ เพราะแม้งานหนึ่งจะชี้ว่า เนื้อแดงที่ไม่ได้แปรรูปไม่มีผลต่อความเสี่ยงโรค แต่งานศึกษาตามแผนขนาดใหญ่ที่ทำเฉพาะเรื่องต่าง ๆ ก็ยังพบสหสัมพันธ์ การบริโภคเนื้อแดงที่ไม่ได้แปรรูปมีหลักฐานเบื้องต้นว่าสัมพันธ์กับความเสี่ยงโรคเบาหวานชนิด 2 ที่สูงขึ้น แต่ความสัมพันธ์ค่อนข้างอ่อนและชัดเจนน้อยกว่าความสัมพันธ์ระหว่างเนื้อแดงที่แปรรูปกับโรคเบาหวาน

       งานอื่น ๆ ได้เสนอว่า ความสัมพันธ์อาจเป็นกับไขมันอิ่มตัว ไขมันทรานส์ และคอเลสเตอรอลในอาหาร ไม่ใช่กับเนื้อแดงโดยตรง งานศึกษาหนึ่งประเมินว่า "การแทนที่เนื้อแดงหนึ่งที่ต่อวันด้วยเมล็ดถั่ว ผลิตภัณฑ์นมไขมันต่ำ และธัญพืชไม่ขัดสี สัมพันธ์กับความเสี่ยงโรคเบาหวานชนิด 2 ที่ต่ำกว่า 16-35%"

       งานวิเคราะห์อภิมานปี 2012 พบว่า ความเสี่ยงมะเร็งกระเพาะอาหารสูงขึ้นเมื่อทานเนื้อแดงหรือเนื้อแปรรูปมากขึ้น  คือเนื้อแดงเองมีสารบางอย่างที่ในสถานการณ์โดยเฉพาะ ๆ จะเกิดสารก่อมะเร็งเช่นสารประกอบ N-nitroso ( N-nitroso compound, NOC )

       ในปี 2015 สำนักงานวิจัยมะเร็งนานาชาติ ( IARC ) สรุปว่า เนื้อแดงน่าจะเป็นสารก่อมะเร็ง ( กลุ่ม 2A ) สำหรับมนุษย์  และรายงานว่า การได้เนื้อแดงมากขึ้นแต่ละ 100 กรัม ( จนถึงประมาณ 140 ก. ) ต่อวัน  เพิ่มความเสี่ยงมะเร็งลำไส้ใหญ่ 17% และก็ดูเหมือนจะเสี่ยงมะเร็งตับอ่อนและมะเร็งต่อมลูกหมากเพิ่มขึ้นด้วย แม้ความสัมพันธ์จะไม่ชัดเจนเท่า  ให้มองเห็นง่ายขึ้นก็คือ ในสหราชอาณาจักร คน 56 คนจาก 1,000 คนที่ทานเนื้อแดงน้อยที่สุดจะเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ ( 5.6% ) เทียบกับ 66 คนจาก 1,000 คนที่ทานเนื้อแดงมากกว่า ( 6.6% ) คือเสี่ยงมะเร็งมากกว่า 17% ( 1.17 x 5.6 = 6.6 ) 

       งานทบทวนวรรณกรรมปี 2016 รายงานว่า การทานเนื้อแดงมากขึ้นทุก ๆ 100 ก. ต่อวัน จะเพิ่มความเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมองและมะเร็งเต้านมแต่ละอย่างขึ้น 11%, ความเสี่ยงตายเพราะโรคหัวใจร่วมหลอดเลือด 15%, ความเสี่ยงมะเร็งลำไส้ใหญ่ 17% และความเสี่ยงมะเร็งต่อมลูกหมากระยะท้าย ๆ 19%

       งานศึกษาปี 2018 ยังพบการแพ้เนื้อแดงที่สูงขึ้นในสหรัฐเพราะถูกแมงปรสิต ( tick ) กัด


เนื้อแปรรูป

       เนื้อแปรรูปโดยมากมีเนื้อแดงอย่างน้อยก็เป็นบางส่วน เพื่อเพิ่มรสชาติหรือเพื่อให้อยู่ได้นาน เนื้อจะหมักเกลือ หมักเกลือ+ไนเตรต ( nitrate)+ไนไตรต์ ( nitrite )/น้ำตาล ผ่านกระบวนการหมัก รมควัน หรือผ่านกระบวนการอื่น ๆ กลายเป็นเนื้อแปรรูป[29] แต่ไนเตรตและไนไตรต์ที่พบในเนื้อเช่นนี้ ( เช่น เบคอน แฮม ไส้กรอกอิตาลี/ซาลามิ ไส้กรอกอเมริกัน/เป็บเปอโรนี ฮอตดอก ) อาจเปลี่ยนในร่างกายมนุษย์เป็นไนโตรซามีน ( nitrosamine ) ที่เป็นสารก่อมะเร็ง ทำให้เซลล์ในลำไส้ใหญ่/ไส้ตรงกลายพันธุ์ โดยก่อเนื้องอกแล้วในที่สุดก็กลายเป็นมะเร็ง

       สำนักงานวิจัยมะเร็งนานาชาติ ( IARC ) ได้แถลงข่าวในปี 2015 อาศัยการทบทวนงานศึกษากว่า 800 งานที่ทำในช่วง 20 ปี แล้วสรุปว่า เนื้อแปรรูปเป็นสารก่อมะเร็ง ( กลุ่ม 1 ) อย่างชัดเจน และพบว่า เนื้อแปรรูปที่ทานเพิ่มขึ้น 50 กรัมในแต่ละวัน จะเพิ่มความเสี่ยงมะเร็งลำไส้ใหญ่ขึ้น 18% ( จนถึงขนาดมากสุดคือ 140 ก. ) องค์กรยังพบว่ามันเพิ่มความเสี่ยงมะเร็งกระเพาะอาหารอีกด้วยแต่ยังไม่ชัดเจนเท่า[31] งานทบทวนวรรณกรรมปี 2016 พบว่า การทานเนื้อแปรรูปเพิ่มขึ้น 50 กรัมแต่ละวัน ( เช่น เบคอน แฮม ฮอตดอก และไส้กรอก ) จะเพิ่มความเสี่ยงมะเร็งต่อมลูกหมาก 4%, ความเสี่ยงตายเพราะมะเร็ง 8%, มะเร็งเต้านม 9%, มะเร็งลำไส้ใหญ่ 18%, มะเร็งตับอ่อน 19%, โรคหลอดเลือดสมอง 13%, ความเสี่ยงตายเพราะโรคหัวใจร่วมหลอดเลือด 24% และเบาหวาน 32%


การทำอาหาร

       การทำเนื้อด้วยความร้อนสูง หรือการรมควันเนื้อ จะสร้างสารประกอบ polycyclic aromatic hydrocarbon ( PA  H) และ heterocyclic amine ( HCA ) ที่ก่อมะเร็ง   กลุ่มย่อยของ HCA รวมทั้ง amino-dimethylimidazo-quinoxaline ( MelQx ), amino-dimethylimidazo-quinoxaline ( DiMelQx  ) และ amino-methyl-phenylimidazo-pyridine ( PhIP ) ซึ่งเกิดโดยมากเพราะทำเนื้อด้วยความร้อนสูง ยังพบสารประกอบ Benzo[a]pyrene ( B[a]P ) ในเนื้อที่ทำด้วยความร้อนสูงมากอีกด้วย ดังนั้น การหมักเนื้อแดงสดมีไขมันน้อยในซอสแล้วหุงต้มที่ความร้อนต่ำ จึงน่าจะช่วยลดการสร้างสารประกอบซึ่งก่อมะเร็ง และลดความเสี่ยงมะเร็งลำไส้ใหญ่


- END -