Tuesday, April 14, 2020

Glycerol


Glycerol

      กลีเซอรอล ( glycerol ) หรือ กลีเซอรีน ( glycerine, glycerin ) เป็นสารประกอบอินทรีย์ที่มีสูตรเคมีคือ C3H8O3 ลักษณะเป็นของเหลวหนืดไม่มีสี ไม่มีกลิ่น รสหวาน มีน้ำหนักโมเลกุล 92.1 g/mol และระดับความไวไฟ 1 ตาม NFPA 704 หรือต้องให้ความร้อนสูงก่อนจึงจะลุกติดไฟ    กลีเซอรอลถูกสกัดครั้งแรกในปี ค.ศ. 1783 โดยคาร์ล วิลเฮ็ล์ม เชเลอ นักเคมีชาวสวีเดน และตั้งชื่อโดยมีแชล-เออแฌน เชฟเริล นักเคมีชาวฝรั่งเศสในปี ค.ศ. 1811

       กลีเซอรอลเป็นสารพอลิออลชนิดน้ำตาลแอลกอฮอล์ที่มีอะตอมคาร์บอนเป็นแกนกลาง 3 อะตอม และเป็นโปรไครัล หรือสารที่โครงสร้างสามารถพัฒนาเป็นไครัลได้ การผลิตกลีเซอรอลมักได้จากไตรกลีเซอไรด์จากพืชและสัตว์ ทำปฏิกิริยาซาปอนิฟิเคชัน ( saponification ) กับโซเดียมไฮดรอกไซด์ ได้สบู่และกลีเซอรอล นอกจากนี้ยังสามารถสังเคราะห์ได้จากโพรพีลีนที่ทำปฏิกิริยาจนได้เอพิคลอโรไฮดริน และถูกไฮโดรไลซ์จนได้กลีเซอรอล  ในร่างกายใช้กลีเซอรอลเป็นสารตั้งต้นในการสังเคราะห์ไตรกลีเซอไรด์และฟอสโฟลิพิด เมื่อร่างกายใช้ไขมันเป็นแหล่งพลังงาน จะดึงกลีเซอรอลจากเนื้อเยื่อไขมันแล้วเปลี่ยนเป็นกลูโคสผ่านกระบวนการสร้างกลูโคสก่อนจะเข้าสู่กระแสเลือด

       กลีเซอรอลมีคุณสมบัติเป็นไฮโกรสโคปิก ( hygroscopic ) หรือสารที่สามารถดูดซึมหรือดูดซับความชื้นจากอากาศ จึงผสมเข้ากับน้ำได้ นอกจากนี้ยังละลายในแอซีโทนได้เล็กน้อย แต่ไม่ละลายในคลอโรฟอร์ม

       กลีเซอรอลเป็นสารที่มีพิษน้อย คือมีแอลดี 50 ในหนู ( ทางปาก ) อยู่ที่ 12600 mg/kg   กลีเซอรอลใช้เป็นตัวทำละลาย วัตถุให้ความหวานทดแทนน้ำตาล และวัตถุกันเสียในอาหาร โดยมีเลขอีคือ E422   นอกจากนี้ยังมีฤทธิ์ต้านจุลชีพและไวรัส จึงใช้รักษาบาดแผลและเป็นยาระบาย รวมถึงเป็นสารหล่อลื่นและสารกักเก็บความชุ่มชื้นในเครื่องสำอาง 


- - - - - - - - - - - - - - - - - - - 

      กลีเซอรอล ( glycerol ) อาจเรียกว่า กลีเซอรีน ( glycerine หรือ glycerin ) มีโครงสร้างโมเลกุลเป็นพอลิออล ( polyol ) เป็นสารที่เป็นของเหลว ใส ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น มีรสหวานเล็กน้อย (  ความหวานสัมพัทธ์ 60 ) ในโมเลกุลมีหมู่ไฮดรอกซิล ( -OH ) 3 หมู่ จึงทำให้ละลายในน้ำได้ดี มีสมบัติในการดูดจับน้ำได้ดี ( hydroscopic ) กลีเซอรอลเป็นส่วนประกอบหลักในโมเลกุลของไตรกลีเซอร์ไรด์ ( triglyceride ) ซึ่งได้จากการรวมตัวของกลีเซอรอลกับกรดไขมัน ( fatty acid ) 3 โมเลกุล


การใช้กลีเซอรอลในอาหาร 

1. ใช้เป็นวัตถุเจือปนอาหาร ( food additive  )  E-number E422 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ

* * * สารเก็บความชื้น ( humectant ) ป้องกันไม่ให้อาหารแห้ง มีค่าวอเตอร์แอคทิวิตี้ ( water activity ) ต่ำช่วยลดค่าวอเตอร์แอคทิวิตี้ของอาหาร

* * * สารให้ความหวาน ( sweetener ) มีค่าความหวานสัมพัทธ์ 60 (น้ำตาลซูโครสมีความหวานสัมพัทธ์เท่ากับ 100 ) แต่ให้ค่าดัชนีไกลซิมิก (glycemic index) ที่ต่ำกว่า และแบคทีเรียไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ จึงไม่ทำให้อาหารเสื่อมเสีย และไม่ทำให้ฟันผุ 

* * * เป็นสารที่ทำข้นหนืด ( thickening agent ) ใน liqueur

* * * เป็นอิมัลซิไฟเออร์ emulsifier 


2. เป็นไครโอโพรเทกแทนต์ ( Cryoprotectant  ) ใช้สารที่ป้องกันการเกิดผลึกน้ำแข็งโดยลดจุดเยือกแข็ง ( freezing point ) ให้ต่ำลง


3. ใช้เพื่อผลิตmonoglyceride and diglyceride ซึ่งใช้เป็น emulsifier


- END -