Friday, April 3, 2020

Off Season


ช่วงนอกฤดูการแข่งขัน

Off Season

      การจะอธิบายความหมายของคำว่า นอกฤดูการแข่งขัน หรือที่ภาษาอังกฤษใช้คำว่า Off Season ให้เข้าใจอย่างถ่องแท้นั้น ผมจำเป็นจะต้องอธิบายแบบภาพรวมทั้งหมดให้เพื่อนสมาชิกเข้าใจก่อน แล้วตัวคำถามที่ว่า Off Season คืออะไร  คำตอบมันก็จะอยู่ในภาพรวม ที่ผมจะอธิบายข้างล่างนี้น่ะครับ

       ภาพรวมของการเพาะกายมันเป็นอย่างนี้ครับ คือว่า หลักการเพาะกายที่ใช้กันทั่วโลก และถือเป็นระบบสากล ก็คือ การเพาะกายจะใช้
หลักการ การแกะสลัก ไม่ใช่ใช้หลักการ การปั้น

      การทำความเข้าใจระหว่างเรื่องการแกะสลัก และการปั้นนี้ ( คือทำความเข้าใจว่ามันต่างกันอย่างไร ) มีผลชี้เป็นชี้ตายต่อความสำเร็จในการเพาะกายอย่างเต็มๆเลยทีเดียวครับ / เหตุก็เพราะหลายคนที่ยังไม่เข้าใจในเรื่องระบบการเพาะกาย มักจะใช้ "การปั้น" ซึ่งเป็นการกระทำที่ผิดทาง และถือได้ว่าผู้สอนให้คนอื่นทำการเพาะกายด้วย "การปั้น" นั้น ไม่มีความรู้จริง

       คำว่า "การปั้น" ในที่นี้ ก็หมายถึง การค่อยๆ เพิ่มสิ่งที่เราต้องการ เข้าไปในตัวโครงร่าง / ในขณะที่ "การแกะสลัก" นั้น จะใช้วิธี ตัดสิ่งที่ไม่ต้องการออก จากตัวโครงร่าง แล้วให้เหลือเฉพาะสิ่งที่ต้องการ

       การปั้น ก็เปรียบเทียบได้กับการฝึกแบบฟิตเนส ที่ค่อยๆเพิ่มเซลล์กล้ามเนื้อเข้าไปในร่างกายของเรา โดยที่ไม่ให้มีสิ่งที่ไม่ต้องการติดเข้าไปด้วย ( สิ่งที่ไม่ต้องการที่ว่านั้น ก็คือ ไขมัน )  ถึงแม้ว่ามันจะทำให้ร่างกายเรามีเซลล์กล้ามเนื้อมากขึ้น แต่กว่ามันจะสัมฤทธิ์ผลคือมีรูปร่างที่เข้ารูปเข้าทรง ก็อาจต้องกินเวลาถึง 8 ปี

       การแกะสลัก ก็เปรียบได้กับการฝึกแบบเพาะกาย คือต้องมีการ "ขุน" ตัวเองให้ เติบโตมากกว่าที่ต้องการ เสียก่อน ซึ่งการเติบโตที่ว่านี้ ก็จะมีสิ่งที่ไม่ต้องการติดเข้ามาด้วย ( นั่นก็คือไขมัน ) / หลังจากได้ที่แล้ว จึงค่อยสกัดเอาสิ่งที่ไม่ต้องการนั้นออก ( ก็คือสกัดไขมัน ) จนเหลือรูปทรงที่เราต้องการ ซึ่งก็จะได้รูปทรงเดียวกับที่จากการปั้นนั่นแหละ แต่จะใช้เวลาแค่ 2 ปีนิดๆเท่านั้น

( ไม่สามารถแสดงภาพได้ ) 

      ถ้าเราต้องการจะทำอะไรสักเรื่องให้สำเร็จ เราก็ต้องแน่ใจก่อนว่าวิธีที่จะทำให้เราประสบความสำเร็จนั้น เป็นวิธีที่ถูกต้อง ไม่หลงทาง เปรียบเทียบได้กับการเปิดประตู คือเราต้องรู้ก่อนว่าประตูบานที่เราจะเปิดนั้น เขาออกแบบมาให้เปิดแบบ "ผลักออก" หรือว่าออกแบบมาให้เปิดแบบ "ดึงเข้า" / หากเราไปทำสลับกัน ก็เหมือนกันดันไปใช้วิธี "ดึงเข้า" กับประตูที่เขาออกแบบมาให้ "ผลักออก" คุณก็จะไม่มีวันเปิดประตูนี้ได้ครับ เพราะมันจะติดวงกบ

       การเพิ่มเซลล์กล้ามเนื้อให้ถูกทางก็เช่นกัน ในเมื่อธรรมชาติเขาออกแบบมาว่า คุณต้องใช้ "การแกะสลัก" เท่านั้น คุณถึงจะประสบความสำเร็จในการเพิ่มเซลล์กล้ามเนื้อได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ถ้าคุณดันไปทำผิดวิธี คือดันไปใช้ "การปั้น" คุณก็จะไม่มีวันประสบความสำเร็จ และสุดท้ายก็มักจะเลิกราไป เหมือนเพื่อนๆ หรือคนรอบข้างหลายคนของคุณ ที่ไม่ประสบความสำเร็จในการเพิ่มเซลล์กล้ามเนื้อสักที สุดท้ายก็เลิกราไป

       ดังนั้น ส่วนของคำแนะนำที่ผมจะพูดต่อไปข้างล่างนี้ ก็จะพูดถึงเฉพาะส่วนที่ถูกต้องเท่านั้น คือการแกะสลัก ว่าเขาทำกันอย่างไร และจะไม่พูดถึงส่วนที่ผิด ซึ่งก็คือการปั้นนะครับ

( ไม่สามารถแสดงภาพได้ )  

     ( ภาพบน ) ไม่ว่าต้นกล้าจะเป็นอย่างไร  คือเป็นคน สูง ,ต่ำ ,ดำ ,ขาว ,อ้วน 120 กก. ,อ้วน 90 กก. ,เจ้าเนื้อ 80 กก. ,ผู้หญิง หรือผู้ชาย  ทั้งหมดนี้ ก็ล้วนแต่นำมาใช้เป็นต้นกล้าได้ทั้งนั้น

( ไม่สามารถแสดงภาพได้ )  

     ภาพบน ) จากนั้น เราก็เอาต้นกล้าที่ว่านี้ มารดน้ำ ให้ปุ๋ยแบบเต็มที่ อย่างน้อยก็สัก 2 ปี จนทำให้ต้นไม้เติบใหญ่ / ก็เปรียบได้กับการที่เราเอาคนที่ สูง ,ต่ำ ,ดำ ,ขาว ,อ้วน 120 กก. ,อ้วน 90 กก. ฯลฯ มา "ขุน" เพื่อเพิ่มเซลล์ร่างกายให้มีเซลล์มากขึ้นไปอีก โดยการ "ขุน" ที่ว่านี้ คือการกินเต็มที่ ,นอนเต็มที่ แต่ต้องฝึกให้หนักด้วย ภาษาอังกฤษเขาเรียกช่วงนี้ว่า Eat big ,Rest big and Get big

       โดยมีข้อห้ามสำคัญเรื่องเดียวคือ ห้ามยุ่งอะไรกับการลดไขมันอย่างเด็ดขาด นั่นก็คือห้ามไดเอท และห้ามทำคาร์ดิโอทุกประเภท - ให้คุณอย่างนี้เป็นเวลา 2 ปีเต็ม หรือหากทำใจไม่ได้ ก็ให้ทำอย่างน้อย 1 ปีครึ่งก็ยังดี

       ช่วงเวลา "ขุน" ที่ว่านี้ ถือว่าเป็นช่วงเวลาที่ทำให้ต้องลำบากใจเป็นอย่างมาก ยกตัวอย่างเช่น ด้วยการที่คุณเป็นคนเจ้าเนื้อ ที่หนัก 100 กก. และไม่เคยกินของหวานมาก่อนเลย  คุณก็ต้องตัดใจ ด้วยการหัดกินของหวาน เช่นน้ำอัดลม หรือโดนัท แล้วล่ะครับ ให้ถือเสียว่า เป็นการกินเพื่อเป็นยา ไม่ได้กินเพื่อความอยาก เพราะเราจำเป็นที่จะต้องใช้สิ่งที่ได้จากของหวานพวกนี้ ( คือน้ำอัดลม ,บัวลอยไข่หวาน ,ไอศกรีม ฯลฯ ) มาใช้เป็นแหล่งการให้พลังงาน เพื่อให้เรามีพลังงานในการเล่นกล้ามได้เต็มที่ อ้อ.. ลืมบอกไป อาหารคาว และอาหารหวานทุกประเภท ห้ามเลือกแบบ ไร้ไขมัน หรือพร่องมันเนย อย่างเด็ดขาดครับ  /

       ด้วยการบำเพ็ญตบะ แบบ "ขุน" ( ส่วนมากคำว่า บำเพ็ญตบะ เขาจะใช้กับการ "อด"  แต่ในที่นี้ เราจะใช้ตรงข้ามกัน ) ก็จะทำให้คุณดูแล้วเหมือนคนที่อ้วนขึ้นเห็นๆ แล้วก็จะมีคนรอบข้างมาพูดให้ได้ยิน ทั้งแบบตั้งใจและไม่ตั้งใจ ประมาณว่า นี่หรือคนเล่นกล้าม เห็นอ้วนขึ้นกว่าเดิมอีก เลิกเหอะ เลิกเหอะ มาผิดทางแล้ว ฯลฯ / ซึ่งคุณก็ต้องทำใจผ่านช่วงนี้ไปให้ได้ 
และคนที่เขามาพูดบั่นทอนกำลังใจพวกนี้ จริงๆแล้วเขาไม่ได้ประสงค์ร้ายอะไรต่อคุณหรอกครับ เพียงแต่เขายังไม่เข้าใจศาสตร์ของการเพาะกาย ก็เท่านั้นเอง ก็เลยมาพูดตักเตือนคุณ ดังนั้น คุณต้องให้อภัยพวกเขา และให้ทำเป็นเอาหูไปนาน เอาตาไปไร่ อย่าไปสนใจความคิดของคนอื่นในช่วง "ขุน" นี้ครับ / เอาล่ะ สมมติว่าผ่านไป 2 ปีแล้ว ก็จะเข้าสู่ขั้นตอนต่อไปครับ


( ไม่สามารถแสดงภาพได้ )  

     ภาพบน ) และแล้วก็มาถึงช่วงเวลาสำคัญแล้วครับ นั่นคือช่วงเวลาแห่งการ "แกะสลัก" ซึ่งก็คือการนำไม้ที่เราพากเพียรรดน้ำใส่ปุ๋ยมาตั้งนานนั้น เอามา "สกัดเอาสิ่งที่ไม่ต้องการออก" จนเหลือแต่สิ่งที่เราต้องการเท่านั้น

       ถ้าเปรียบกับการเพาะกาย ก็คือช่วงที่เราเริ่มรีดไขมันกันออกแล้วล่ะ โดยสิ่งที่ใช้ในการรีดไขมัน ( ซึ่งเปรียบเหมือนเหล็กสกัดที่ใช้ในการแกะสลักไม้ ) ก็คือ

       1.เกี่ยวกับการทาน - ให้เริ่มลดคาร์โบไฮเดรตที่ทานลง ( โดยมากจะนิยมลดลงครึ่งนึง เช่นเคยทานข้าวเต็มจาน ก็ให้เหลือครึ่งจาน ) เริ่มลดของหวานลง / แต่อย่าพึ่งถึงขั้น "อด" เพราะเรายังต้องใช้พลังงานในการทำข้อ 2 และข้อ 3

       2.การเล่นเวท - ให้ลดน้ำหนักที่ใช้ลง แล้วทำจำนวนครั้งให้มากขึ้น เช่น ใน 1 เซทนั้น แต่ก่อนเราเล่นเซทละ 8 ครั้งด้วยน้ำหนัก 20 กก.  ก็ให้เราลดน้ำหนักที่ใช้ลงเหลือ 15 กก. แล้วเล่นให้ได้ 15 ครั้ง ( ใน 1 เซท ) / ซึ่งมันเป็นกลไกธรรมชาติ เนื่องจากเรากำลังอยู่ในช่วงลดคาร์โบไฮเดรต ( ตามที่บอกไว้ในข้อ 1 ) ดังนั้น พลังงานเราจึงเหลือลดน้อยลง เราก็เลยต้องลดปริมาณลูกน้ำหนักที่ใช้ลงด้วย

       3.ให้เริ่มทำคาร์ดิโอ - จริงๆแล้ว หลักเพาะกายแต่ดั้งแต่เดิม เขาไม่มีการทำคาร์ดิโอกันนะครับ เพราะแค่ทำตามข้อ 1 และข้อ 2 พลังงานก็แทบจะหมดแล้ว  / แต่ก็ไม่ขัดใจเพื่อนสมาชิกครับ ถ้าอยากทำคาร์ดิโอ ก็ทำได้ครับ / ถ้าจะทำคาร์ดิโอ ก็ให้ทำสัก 10 นาทีหลังการเล่นกล้ามเสร็จ โดยให้ทำอาทิตย์ละ 3 ครั้ง  ( คือตามปกติเราจะเล่นกล้าม อาทิตย์ละ 4 ครั้ง แต่จะทำคาร์ดิโอแค่อาทิตย์ละ 3 ครั้งเท่านั้น - อันนี้เป็นสากลสำหรับการทำคาร์ดิโอครับ )

       โดยเราจะใช้เวลาในช่วงนี้ประมาณ 3 เดือน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่กำลังพอดี และนักเพาะกายทั่วโลกนิยมทำกันครับ


       จากนั้น ความเปลี่ยนแปลงก็จะเริ่มเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ดังภาพข้างล่างนี้ครับ


( ไม่สามารถแสดงภาพได้ )  

     ภาพบน ) พอเรารีดไขมันออกแล้ว รูปร่างเราก็จะสวยงามเหมือนที่เห็นในรูปข้างบนนี้นะครับ ( ภาพทางขวานะ ไม่ใช่ภาพทางซ้าย )

       ที่อธิบายมาข้างบนนี้ทั้งหมด คือการให้เห็นภาพรวมของการเพาะกายตั้งแต่ "เริ่มจากศูนย์" มาจนมีกล้ามเนื้อสวยงามพอที่จะถ่ายรูปเก็บไว้ดู ,โชว์สาว หรือขึ้นประกวดนะครับ

       คราวนี้ ผมจะมาสู่เรื่อง Off Season กันแล้ว ( พึ่งจะเข้าสู่เนื้อหาของ Off Season ครับ )

       ในวงจรชีวิต หรือวัฏจักรของนักเพาะกายนั้น ในปีหนึ่งๆ เขาจะแบ่งเป็น 2 ช่วงครับ ก็คือ

       ช่วงเตรียมตัวประกวด - ซึ่งใช้ศัพท์ภาษาอังกฤษว่า Pre Contest

       ช่วงนอกฤดูการแข่งขัน - ซึ่งใช้ศัพท์ภาษาอังกฤษว่า Off Season

       ซึ่งนักเพาะกายจะมีรูปร่างสวย  หุ่นดี ไร้ไขมัน ( เหมาะสำหรับการขึ้นประกวดเพาะกาย หรือถ่ายรูปเก็บไว้ ) ก็คือช่วง Pre Contest นี้เท่านั้น / เพื่อนสมาชิกอาจเกิดคำถามว่า แล้วทำไม นักเพาะกายถึงไม่ยอมมีหุ่นดีทั้งปีล่ะ? คำตอบก็คือว่า เพราะถ้าจะให้หุ่นดูดีทั้งปี ก็ต้องทำให้ตัวเองอยู่ในช่วง Pre Contest ทั้งปีน่ะสิ / เพื่อนสมาชิกก็ถามต่อว่า แล้วทำไม ถึงไม่ทำให้ตัวเองอยู่ในช่วง Pre Contest ทั้งปีล่ะ? คำตอบก็คือ มันเครียดเกินไป และไม่ดีต่อสุขภาพน่ะครับ

       คือการที่เราอยู่ในช่วง Pre Contest ก็คือการปฏิบัติตัวผิดธรรมชาติแบบ "หักดิบ" ยกตัวอย่างเช่น คุณต้องอดอาหารเพื่อลดไขมันใต้ผิวหนังจนเหลือ 5% ( เพื่อความชัดของกล้ามเนื้อในการขึ้นประกวด ) ซึ่ง DNA ในพันธุกรรมเรา ไม่ได้ออกแบบให้เราอยู่ในสภาพนั้น คือไขมันของเรา จะต้องมีที่ผิวหนังเป็นสิบๆเปอร์เซ็นต์ขึ้นไป ( แล้วแต่อายุ ) เพื่อให้ปฏิกิริยาเคมีต่างๆในร่างกายเราเกิดความสมดุล

       และยังมีรูปแบบการปฏิบัติตัวอื่นๆที่เราทำในช่วงเตรียมตัวประกวด ( Pre Contest ) เช่นการทำแอโรบิค ,การตัดคาร์โบไฮเดรต ,การตัดน้ำดื่ม ,การตัดเกลือ ฯลฯ ที่ทำให้ร่างกายเราเกิดความเสียหายอย่างมาก นักเพาะกายบางคนถึงกับเป็นตระคริวบนเวทีประกวด ดังตัวอย่างของจริงในภาพข้างล่างนี้


( ไม่สามารถแสดงภาพได้ ) 

      จากการที่นักเพาะกายชื่อคุณ Paul Dillet ( ที่เห็นในภาพข้างบนนี้ ) ต้องขึ้นประกวดหลายเวทีติดต่อกัน ทำให้เขาต้องอยู่ในช่วง Pre Contest ติดต่อกันเป็นเวลานาน สิ่งเหล่านั้น ( คือการปฏิบัติตัวในช่วง Pre Contest ) ได้ทำให้ร่างกายเขาเกิดความเสียหาย ถึงขนาดเป็นตระคริวบนเวทีประกวด จนต้องใช้คนช่วยหามถึง 4 คน ลงจากเวทีเลยทีเดียว


       ตรงนี้แหละครับ ที่วัฏจักรของการเพาะกาย ได้จัดให้มีช่วง นอกฤดูการแข่งขัน คือ Off Season เกิดขึ้นมา ( ซึ่งก็คือเนื้อหาในเวบหน้านี้ทั้งหมด ที่ผมกำลังดึงเข้าสู่ความหมายของคำว่า นอกฤดูการแข่งขัน หรือ Off Season น่ะครับ )

      นักเพาะกายได้ใช้ช่วง นอกฤดูการแข่งขันนี้ ในการพักฟื้น พักผ่อนร่างกายหลังจากที่ตึงเครียดกับการอยู่ในช่วง Pre Contest มานาน

       ถ้าเปรียบเทียบกับการรบ มันก็เหมือนการที่ทหารแนวหน้า ต้องอยู่ในสนามรบติดต่อกันเป็นเวลานานๆ ซึ่งก่อให้เกิดความเครียด ถึงขนาดฆ่าตัวตายในสนามรบกันก็มาก / ดังนั้น เขาจึงต้องจัดให้มีการสลับเอากำลังทหารชุดใหม่ๆขึ้นไปทดแทน ทุกๆ 15 วันบ้าง 30 วันบ้าง เพื่อเปิดโอกาสให้ทหารที่อยู่ในแนวหน้า ได้มาพักผ่อนจิตใจและร่างกายจนกว่าจะพร้อมที่จะกลับไปประจำการในแนวหน้าใหม่อีกครั้ง

       วัฏรจักรของนักเพาะกาย ก็จะเหมือนแบบการเปลี่ยนกำลังทหารที่ผมยกตัวอย่างมานี่แหละครับ / อย่างเช่น เคยอดคาร์โบไฮเดรต ในช่วง Pre Contest มานาน ก็จะได้มีโอกาสทานคาร์โบไฮเดรตได้อีกในช่วง Off Season นี่เอง ,ได้มีเวลาไปพักผ่อนหย่อนใจ ใช้ชีวิตกับครอบครัวและลูกๆบ้างก็ในช่วง Off Season นี้ เพราะคุณจะต้องไม่ลืมว่า เมื่อคนเราอารมณ์ดี มันก็สร้างกล้ามได้ผลดีนะครับ เพราะร่างกายกับอารมณ์มันมีความเกี่ยวข้องกัน เช่น คนที่เครียดบ่อยๆก็มักจะเป็นมะเร็ง เป็นต้น


       นักเพาะกายที่มีช่วง Pre Contest นานๆ มักจะมีอาการบาดเจ็บจากการฝึกได้ง่าย กล้ามเนื้อฉีกขาดได้ง่าย นั่นก็เพราะระบบการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อ ,ระบบข้อต่อ ,ระบบเคมี ในร่างกายมัน "รวน" ไปหมด อันเนื่องมาจากพฤติการณ์ฝืนธรรมชาติที่เราทำในช่วง Pre Contest นั่นเอง

       ดังนั้น ช่วง Off Season ก็คือช่วงเยียวยา รักษาความเสียหายของระบบต่างๆในร่างกาย ที่เกิดความเสียหายขึ้นแล้ว ในช่วง Pre Contest

       ถ้าถามว่า แล้วในช่วง Off Season ต้องทำอะไรบ้าง มันก็มีอยู่สองรูปแบบนะครับ

       รูปแบบที่ 1 - ถ้าคุณยังอยากประกวดอยู่ในระดับน้ำหนักเดิม ยกตัวอย่างเช่น ณ.ปัจจุบัน คุณประกวดอยู่ในรุ่นมิดเดิลเวท คือน้ำหนักไม่เกิน 80.55 กิโลกรัม ล่ะก็  ในช่วง Off Season นี้ คุณก็ปฏิบัติตัวตามปกติ เพียงแต่ไม่ต้องตัดน้ำ ตัดคาร์โบไฮเดรต ตัดเกลือ เหมือนในช่วง Pre Contest  

     รูปแบบที่ 2 - คือถ้าคุณต้องการเพิ่มปริมาณมัดกล้าม ให้มัน "กลม" "เต็ม" "แน่น" กว่าที่เป็นอยู่ / หรือคุณต้องการข้ามระดับน้ำหนัก ขึ้นไปอยู่รุ่นที่สูงขึ้น เช่นตอนนี้อยู่ในรุ่นมิดเดิลเวท แต่อยากเข้าประกวดในรุ่นเฮฟวี่เวท คือน้ำหนักไม่เกิน 102 กก.แล้วล่ะก็  ในช่วง Off Season นี้ คุณต้อง "ขุน" น้ำหนักตัวขึ้นมาใหม่ เหมือนกับที่คุณทำตอนที่เริ่มเพาะกายจาก "ศูนย์" นั่นเอง ก็คือคุณต้องปฏิบัติตัวเหมือนอย่างที่เห็นในรูปข้างบนนี้  คือไปเริ่มวงจร "ขุน" เหมือนในตอนต้นๆของเวบเพจหน้านี้นั่นเองครับ

- END -