Friday, April 3, 2020

Pre Contest


  Pre Contest

ช่วงเตรียมตัวขึ้นประกวด

     ช่วงเตรียมตัวขึ้นประกวดนี้ บางทีก็เรียกว่า ช่วงเข้าฤดูการแข่งขัน / เหตุที่ศัพท์ว่า Pre Contest มันน่าจะแปลว่า "ช่วงเตรียมตัวประกวด หรือช่วงก่อนประกวด" ได้อย่างเดียว ทำไมต้องมีคำว่า "ฤดู" ด้วย ? เพราะในศัพท์ว่า Pre Contest มันไม่เห็นมีศัพท์ว่า "ฤดู" ( Season ) แทรกอยู่ตรงไหนเลย?

       คำตอบก็คือว่า ในวงจรวัฏจักรการเล่นกล้ามของนักเพาะกายในปีหนึ่งๆ เขาจะมีแค่ 2 วัฏจักรเท่านั้นคือ

       ช่วงนอกฤดูการแข่งขัน - ซึ่งใช้ศัพท์ภาษาอังกฤษว่า Off Season


       ช่วงเตรียมตัวประกวด - ซึ่งใช้ศัพท์ภาษาอังกฤษว่า Pre Contest ( ซึ่งก็คือเรื่องที่เพื่อนสมาชิกกำลังนั่งอ่านอยู่ ณ.ขณะนี้ นี่เอง )

       จาก 2 วัฏจักรข้างบนนี้ เพื่อนสมาชิกจึงเห็นได้ว่า ตัว Off Season กับตัว Pre Contest เป็นปรปักษ์กัน คืออยู่คนละปลายด้าน

       คราวนี้ เมื่อ Off Season มันแปลว่า ช่วง นอกฤดูการแข่งขัน ( Season ก็คือ ฤดู ) 
/ แล้วพอเราจะสื่อถึงอะไรที่มันอยู่ตรงข้ามกับ "นอกฤดู" ( คือ Off Season ) มันก็ควรจะเป็นศัพท์ภาษาไทยที่บอกว่า "ในฤดู" หรือ "เข้าฤดู"

       แต่ในศัพท์ภาษาอังกฤษ มันไม่ใช้คำว่า "In Season" แต่มันดันใช้ศัพท์อื่นไปเลย ซึ่งก็คือ Pre Contest

       ดังนั้น เวลาที่ผมจะแปลความหมายให้เพื่อนสมาชิกอ่าน เพื่อทำความเข้าใจง่ายๆ ผมจึงแปลคำว่า Pre Contest เป็นช่วง "เข้าฤดูการแข่งขัน" ทั้งๆที่มันไม่มีศัพท์ว่า Seasons อยู่ในคำว่า Pre Contest เลยก็ตาม แต่จุดประสงค์ในการแปลอย่างนี้ ก็เพื่อให้มันตรงข้ามกับคำว่า นอกฤดูการแข่งขัน ซึ่งผมแปลตรงตัวจากภาษาอังกฤษว่า Off Season นั่นเองครับ ) / เอาล่ะครับ เรามาเข้าเนื้อเรื่องกันต่อ

       ในวงจรของนักกีฬาทั้งหลาย สมมติว่าเป็นกีฬายิมนาสติกที่จะแข่งกีฬาโอลิมปิคก็แล้วกัน / กีฬาโอลิมปิค จะมีการแข่งขันกัน 4 ปีครั้ง / คราวนี้ สมมติว่าเหลือเวลาอีก 1 ปีก็จะมีการแข่งขันกีฬาโอลิมปิคแล้ว  ทางสมาคมต่างๆ ก็จะใช้คำว่า "เก็บตัว" นักกีฬา คือเอานักกีฬายิมนาสติกที่จะเข้าทำการแข่งขัน ไปอยู่ค่ายเพื่อฝึกซ้อมแบบเข้มข้น เพื่อจะขึ้นแข่งขัน

       จึงเห็นได้ว่า ช่วง 4 ปี ก่อนที่จะมีการแข่งขันโอลิมปิคนั้น จะแบ่งเป็น 2 ช่วงคือ ช่วงนอกฤดูการแข่งขัน ( 3 ปี ) และช่วงเก็บตัว หรือช่วงเตรียมตัวขึ้นแข่งขัน ( 1 ปี )

       ซึ่งช่วงนอกฤดูการแข่งขัน ( 3 ปี ) นั้น ไม่ใช่ว่านักกีฬาจะไม่ซ้อมกีฬาเลยนะครับ 
 คือเขาก็ต้องเล่นยิมนาสติกไปเรื่อยๆ เพื่อหล่อเลี้ยงทักษะของเขาให้เคยชินกับการตีลังขา ,ฉีกขา ฯลฯ ( มันจะไม่เหมือนการอ่านหนังสือสอบตรงที่ว่า ถ้ายังไม่เข้าช่วงใกล้สอบนั้น ( Off Season )  เราไม่ต้องอ่านหนังสือเลยก็ได้ แล้วไปอ่านหนังสือสอบรวดเดียว ตอนช่วง "เข้าฤดูการสอบ" ก็ได้ / แต่สำหรับนักกีฬาแล้ว จะทำอย่างนั้นไม่ได้ คือต้องฝึกตลอดปี ตลอดชาติ ทั้ง Off Season และ ช่วงเก็บตัว ( ช่วงเข้าฤดูการแข่งขัน ) / เพียงแต่ว่ารูปแบบการฝึกระหว่างช่วง Off Season กับช่วงเก็บตัว จะแตกต่างกันไปบ้าง  แต่ไม่ใช่ถึงกับ ไม่ฝึกอะไรเลยในช่วง Off Season นะครับ อย่าเข้าใจผิด )

       เปรียบเทียบวัฏจักรการฝึกของนักกีฬายิมนาสติก กับนักเพาะกาย ก็จะเป็นอย่างนี้ครับ

       ช่วงนอกฤดูการแข่งขัน 3 ปี ของนักกีฬายิมนาสติก ก็คือ ช่วงนอกฤดูการแข่งขัน 10 เดือนในกีฬาเพาะกาย

      ช่วงเก็บตัว หรือเข้าค่าย 1 ปีก่อนขึ้นแข่งขันในกีฬาโอลิมปิค ก็คือ ช่วงเข้าฤดูการแข่งขัน 2 เดือนก่อนการขึ้นเวทีประกวด ในกีฬาเพาะกาย

       ก็คือว่า ช่วงนอกฤดูการแข่งขันสำหรับนักเพาะกายนั้น ก็ไม่ใช่ว่านักเพาะกายจะไม่ฝึกนะครับ เขาก็ยังฝึกเหมือนเดิมนั่นแหละ เพียงแต่ว่าไม่ต้องระวังเรื่องอาหารมากนัก

       ซึ่งพอเข้าช่วงฤดูการแข่งขัน หรือช่วง Pre Contest แล้วล่ะก็ รูปแบบการดำเนินชีวิตของนักเพาะกายก็จะไม่เหมือนช่วงนอกฤดูการแข่งขันแล้ว คือทุกอย่างจะต้องขมึงเกลียวขึ้น ลำบากในการใช้ชีวิตมากขึ้น

       ยกตัวอย่างเช่น ช่วงนอกฤดูการแข่งขัน เราเคยทานอาหารได้เยอะๆ ทานเต็มที่จนอิ่ม แล้วเราก็เล่นกล้ามอย่างเดียว

       แต่พอช่วงเตรียมตัวประกวด ปรากฏว่าเราต้องลดปริมาณอาหารที่ทานลง แล้วกลับต้องเพิ่มการทำ คาร์ดิโอเข้ามาอีก ในขณะที่ยังต้องเล่นกล้ามเหมือนเดิม ( คือไม่ใช่ทำคาร์ดิโออย่างเดียวนะครับ เรายังต้องเล่นกล้ามอยู่เหมือนเดิม ) 
/ มันเลยสวนทางกันไปหมด คือช่วงนอกฤดูการแข่งขัน เรากินมาก แต่ออกกำลังน้อยได้ - แต่พอเข้าช่วงฤดูการแข่งขัน เราดันต้องกินน้อยลง แต่กลับต้องออกกำลังมากขึ้น ( คือต้องเพิ่มการทำคาร์ดิโอเข้าไปในตารางฝึกอีก )

       ดังนั้น เราจึงเห็นรูปแบบการออกกำลังกายที่แตกต่างกัน นั่นก็คือว่า เวลาที่เราเล่นกล้ามในช่วงเข้าฤดูการแข่งขัน เราจะใช้ลูกน้ำหนักที่เบาๆ เพราะเราทานข้าวน้อยลง ( Diet ) ทำให้แรงเราเหลือน้อยอยู่แล้ว  ดันต้องเผื่อแรงไว้สำหรับทำคาร์ดิโอ คือเดินบนสายพาน ฯลฯ อีก / นักเพาะกายบางคนที่ใช้น้ำหนักเบาลง ( เพราะอยู่ในช่วงเข้าฤดูการแข่งขันนี้ ) ก็จะชดเชยด้วยการเพิ่มจำนวน Rep ในเซทให้มากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ช่วงนอกฤดูการแข่งขัน เคยใช้ดัมเบลล์หนักลูกละ 25 กก.บริหารเซทละ 8 Rep ,แต่พอเข้าฤดูการแข่งขัน เขาก็จะลดขนาดดัมเบลล๋ลงให้เหลือแค่ 10 กก. แต่เพิ่มจำนวน Rep ให้เป็นเซทละ 15 Rep เป็นต้น

       นักเพาะกายบางคน มีช่วงเข้าฤดูการแข่งขัน มากถึง 8 เดือนต่อปี ก็คือเขาต้องเครียด ต้องเหนื่อย ติดต่อกันถึง 8 เดือนในรอบ 1 ปี เหตุผลก็เพราะว่านักเพาะกายเหล่านี้ เป็นพวกล่ารางวัล คือจะแข่งหลายรายการในรอบ 1 ปี / สมมติให้นักเพาะกายที่มีช่วงฤดูการแข่งขัน ถึง 8 เดือนต่อปีคนนี้ ชื่อ นาย ก.

       แต่นักเพาะกายบางคน มีช่วงเข้าฤดูการแข่งขันเพียง 2 เดือนต่อปีเท่านั้น เหตุผลก็เพราะว่าเขาแข่งปีละ "รายการเดียว" แต่เป็นรายการใหญ่ / สมมติให้นักเพาะกายที่แข่งรายการเดียวต่อปีนี้ ชื่อ นาย ข.

       สมมติว่า นักเพาะกายชื่อ นาย ก. แข่งหลายรายการ และได้เป็นแชมป์หลายรายการในรอบ 1 ปีก็จริง แต่ว่า ในแต่ละรายการที่เขาได้แชมป์นั้น เขาได้เงินรางวัล รายการละ 20,000 เหรียญ สมมติว่าเขาชนะ 5 รายการในรอบ 1 ปี ก็แสดงว่าในปีนั้น เขาจะมีรายได้ 100,000 เหรียญ 

       แต่นักเพาะกายชื่อ นาย ข. แข่งรายการเดียว แต่เป็นรายการใหญ่ แล้วได้แชมป์จากรายการใหญ่นี้ ( สมมติว่าเป็นรายการมิสเตอร์โอลิมเปีย ) เขาจะได้เงินรางวัล 200,000 เหรียญทันที

       นั่นก็หมายความว่า นักเพาะกายชื่อ นาย ข. จะอยู่ในช่วงเข้าฤดูการแข่งขัน ปีนึงแค่ 2 เดือนเท่านั้น แต่เขาจะมีรายได้เป็นสองเท่า เมื่อเทียบกับ นักเพาะกายชื่อ นาย ก. ซึ่งต้องเข้าช่วงฤดูการแข่งขัน ปีนึงตั้ง 8 เดือน

       พอจะมองเห็นภาพวัฏจักร และความสำคัญของช่วงเข้าฤดูการแข่งขัน ( Pre Contest ) แล้วนะครับ

- END -