Tuesday, April 7, 2020

BURNS PRINCIPLE


BURNS PRINCIPLE

      เมื่อฝึกมาถึงช่วงปลายเซ็ต ผู้ฝึกไม่สามารถเคลื่อนไหวท่าฝึกได้อย่างเต็มพิสัยอีกต่อไป จึงเคลื่อนไหวท่าฝึกแบบครึ่งๆกลางๆอีกสองสามครั้ง จนกล้ามเนื้ออ่อนล้าและเกิดกรดแลคติคในกล้ามเนื้อมากขึ้นกว่าเดิม สภาวะที่กรดแลคติคมีมากขึ้นจนกล้ามเนื้อไม่สามารถออกแรงบีบตัวได้อีกต่อไป ส่งผลให้รู้สึกร้อนผ่าวอยู่ภายในเซลล์ของกล้ามเนื้อส่วนที่ฝึก เราเรียกสภาวะนี้ว่า เบิร์นส์

       ในทางสรีรวิทยา ของเสียภายในเซลล์ที่เกิดจากการออกกำลังกายเป็นผลให้กล้ามเนื้ออ่อนแรงและกระแสโลหิต ที่ฉีดเข้าสู่ร่างกายส่วนที่ฝึกแบบครึ่งๆกลางๆ จะทำให้เซลล์ขยายพองขึ้น และหลอดโลหิตฝอย (capillary beds) เปล่งปลั่งขึ้น ปัจจัยต่างๆเหล่านี้นี่เองทำให้กล้ามเนื้อขยายตัวขึ้นและมีโลหิตในกล้ามเนื้อเพิ่มมากขึ้น

       ทั้งเทคนิค ฟอร์ส เร็ป และ ดีสเซ็นดิง เซ็ต (คลิ๊ก) ต่างก็ต้องอาศัยเพื่อนคู่ฝึกคราวละหนึ่งคน และสองคนตามลำดับ ทว่าสำหรับเทคนิคเบิร์นส์นี้ ไม่จำเป็นต้องอาศัยเพื่อนคู่ฝึกเลย แต่ก็สามารถฝึกจนผ่านจุดอ่อนแรงได้เช่นกัน โดยอาศัยหลักการเคลื่อนไหวท่าฝึกเร็วๆ และมีพิสัยสั้นๆ (ไม่เต็มแนวขอบข่าย การเคลื่อนไหวท่าฝึก) ทั้งนี้ภายหลังจากที่ผู้ฝึกไม่สามารถเคลื่อนไหวท่าฝึกแบบเคร่งครัดได้อย่างเต็มพิสัย

       ยกตัวอย่างการฝึกกล้ามน่อง ด้วยเครื่อง Calf Machine เมื่อเวลาที่ผู้ฝึกยกส้นเท้าขึ้น จนถึงจำนวนครั้ง ที่ผู้ฝึกไม่สามารถออกแรงต้าน (Positive) ยกส้นเท้าได้อย่างเต็มพิสัยอีกต่อไป ดังนั้นผู้ฝึกจึงเขย่งส้นเท้าขึ้น แบบขย่มเร็ว ๆ พยายามยกส้นเท้าให้สูงที่สุดเท่าที่จะทำได้อีกประมาณ 8-12 ครั้งแล้วจึงพักเซ็ต แม้ว่าแต่ละครั้งที่ออกแรงต้านนั้น ส้นเท้าของผู้ฝึกจะยกสูงจากพื้นได้เพียง 2-3 นิ้วก็ตาม แต่วิธีนี้ทำให้กล้ามน่องได้รับการออกกำลังกายอย่างหนักและอย่างต่อเนื่องจนผ่านจุดอ่อนแรงไปได้

       การฝึกวิธีนี้ทำให้กรดแลคติค และของเสียอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นจากการออกกำลัง มีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จนรู้สึกร้อนผ่าวภายในกล้ามเนื้อส่วนที่ฝึก

       การฝึกกล้ามน่องด้วยเทคนิคนี้ ไม่ควรใช้เทคนิคนี้เกินเซ็ตละ 12-15 ครั้ง เพราะถ้าใช้เทคนิคนี้ได้เกิน 15 ครั้ง แสดงว่าผู้ฝึกไม่ได้ฝึกจนถึงจุดอ่อนแรงจริง เมื่อฝึกแบบเคลื่อนไหวท่าฝึกอย่างเต็มพิสัย (เคลื่อนไหวท่าฝึก ด้วยการยกส้นเท้าได้อย่างเต็มพิสัย 20 ครั้ง และไม่สามารถออกแรงยกส้นเท้าได้อย่างเต็มพิสัยอีกต่อไปอย่างแท้จริง + เคลื่อนไหวท่าฝึกแบบเบิร์นส์ 12 ครั้ง พักเซ็ต)

       ข้อสังเกตประการหนึ่งคือ โดยปกติแล้วเทคนิคเบิร์นส์ นอกจากใช้ภายหลังจากบรรลุจุดอ่อนแรงจนไม่สามารถเคลื่อนไหวท่าฝึกได้อย่างเต็มพิสัยภายในเซ็ตแล้ว ยังมีลักษณะการเคลื่อนไหวเริ่มจากจุดเริ่มต้นของการเคลื่อนไหวท่าฝึกอีกด้วยคือเริ่มจากจุดที่กล้ามเนื้อยึดตัวมากที่สุด ดังนั้นผู้ฝึกอาจพลิกแพลงการใช้กลวิธีนี้โดยเริ่มจากจุดสิ้นสุดของการเคลื่อนไหวท่าฝึกได้ คือเริ่มจากจุดที่กล้ามเนื้อหดเกร็ง หรือบีบตัวอย่างมากที่สุด เช่นในการฝึกท่า เหยียดขา (Leg Extension) ท่างอขา (Leg Curl) ท่าดึงรอกในลักษณะต่างๆ เพื่อสร้างกล้ามปีก (Various Types of Rows) ท่าดึงตัวขึ้นบนบาร์เดี่ยว (Chin) ท่านั่งดึงคานรอก (Lat Machine Pulldown) เป็นต้น

       นักเพาะกายผู้ยิ่งใหญ่ที่ใช้เทคนิคนี้ ในช่วงเตรียมตัวแข่งขัน เป็นคนแรกคือ ลารี สก็อต เขาเคยครองตำแหน่ง มร.โอลิมเปียสองสมัย เขาฝึกท่า พรีเชอร์ เคิร์ล (Preacher Curl) ด้วยบาร์เบลล์ซึ่งหนัก พอที่ฝึกได้สูงสุด 6 ครั้ง แล้วต่อด้วยเทคนิคเบิร์นส์อีก 6 ครั้ง ในช่วงปลายเซ็ต แล้วจึงพักเซ็ต เพื่อจะฝึกเซ็ตต่อไป และวิธีนี้นี่เองที่ทำให้การสร้างกล้ามแขนของเขา กลายเป็นตำนานอันยิ่งใหญ่ไปแล้ว



- END -