Tuesday, April 7, 2020

CHEAT


CHEAT

อธิบายแบบสั้น

       ความหมายของคำนี้ ตรงกับศัพท์ของมันก็คือ "ขี้โกง" อย่างเช่น เมื่อเราจะบริหารท่า Barbell Curl สิ่งที่ถูกต้องก็คือ ต้องยืนตัวตรง ค่อยๆม้วนแขนขึ้นมา เมื่อถึงจุดสูงสุดแล้วก็เกร็งไว้สัก 2 วินาที แล้วค่อยๆผ่อนน้ำหนักลงไปที่จุดเริ่มต้น  ส่วนสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ก็คือ เวลาจะยกลูกน้ำหนักขึ้น ก็ใช้การกระเด้ง แอ่นตัวไปด้านหลัง เพื่ออาศัยแรงเหวี่ยงไปที่แขน เป็นโมเมนตัมให้ดันลูกน้ำหนักขึ้นได้อย่างไม่ยากเย็น 

      ส่วนเมื่อเวลาขึ้นถึงจุดสูงสุดแล้ว แทนที่จะค้างไว้ 2 วินาที ก็กลับปล่อยลูกน้ำหนักลงมาสู่จังหวะที่ 1 เลยทันที ซึ่งคำว่า Cheat ในที่นี้ก็คือการทำ สิ่งที่ไม่ถูกต้อง นั่นเอง

       การ cheat ใช้ได้กับการบริหารกล้ามเนื้อทุกส่วน ทุกท่าบริหาร มันคือการโกงตัวเองในการฝึก หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือการฝึกท่าเพาะกายอย่างไม่เคร่งครัดนั่นเอง


อธิบายโดยละเอียด
       เทคนิคนี้ใช้กันมานานนับแต่บรรพกาล บางทีเราเรียกเต็มๆว่า CHEAT REPS (ชีต เร็ป) โดยเมื่อมนุษย์ได้พยายามใช้ร่างกายออกแรงต้านต่อวัตถุใดก็ตาม เพื่อให้วัตถุนั้น เคลื่อนจากตำแหน่งหนึ่งไปยังอีกตำแหน่งหนึ่ง เพราะโดยธรรมชาติแล้วในสภาวการณ์เช่นนี้ มนุษย์มักจะกระชาก เหวี่ยง แอ่นหน้าแอ่นหลัง และกระตุกขา เพื่อให้น้ำหนักที่มีน้ำหนัก เคลื่อนจากจุด A ไปยังจุด B ตามทิศทางที่ตนต้องการ เทคนิคนี้นักยกน้ำหนักทุกคนใช้ยกน้ำหนักจากพื้นชูขึ้นเหนือศีรษะในท่าแข่งขันที่เรียกว่า jerk


แล้วเทคนิคนี้มีประโยชน์อันใดกับผู้ฝึกเพาะกายเล่า?

       มีประโยชน์แน่นอน เพราะว่าหลังจากที่ผู้ฝึกออกแรงต้านแบบเคลื่อนไหวท่าฝึกอย่างเคร่งครัด (strict manner) ทุกขั้นตอนมาเป็นเวลานาน เมื่อถึงระยะหนึ่งกล้ามเนื้อจะเกิดความเคยชินต่อการฝึก ทำให้กล้ามเนื้อของผู้ฝึกเจริญเติบโตอย่างเชื่องช้า แต่เมื่อนำกลวิธีฝึกแบบชีตมาใช้ มัดกล้ามจึงทำงานต่างไปจากเดิม จึงทำให้ผู้ฝึกผ่านพ้นสภาวะชะงักงันไปได้ และกล้ามเนื้อย่อมเติบโตต่อไป

       อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันนักเพาะกายระดับแถวหน้าไม่ได้ใช้เทคนิคนี้เพียงเพื่อยกน้ำหนักจากจุด A ไปยังจุด B เท่านั้น แต่นักเพาะกายผู้ทรงความรู้จะต้องใช้เทคนิคชีต เร็ปอย่างสร้างสรรค์ กล่าวคือผู้ฝึกต้องรู้จักการเหวี่ยงน้ำหนัก แอ่นหลัง เพื่อให้กล้ามเนื้อได้ออกแรงต้านอย่างต่อเนื่อง ภายหลังจากที่ผู้ฝึกไม่สามารถยกน้ำหนักด้วยการเคลื่อนไหวอย่างเคร่งครัดได้ ซึ่งต่างจากวิธีการชีต ของนักยกน้ำหนัก ที่ใช้ส่งน้ำหนักขึ้นชูเหนือศีรษะ เพื่อช่วยให้กล้ามเนื้อออกแรงต้านน้อยที่สุด แต่วิธีการของนักเพาะกาย เป็นวิธีการที่ทำให้กล้ามเนื้อออกแรงต้านมากที่สุด เพราะใช้ภายหลังจากที่กล้ามเนื้ออกแรงจนไม่สามารถเคลื่อนไหวท่าฝึกอย่างเคร่งครัดได้อีกต่อไป

       ตัวอย่างเช่น เมื่อผู้ฝึกเคลื่อนไหวท่าฝึก เพื่อฝึกต้นแขนด้านหน้า (biceps) ด้วยท่า Barbell Curl เมื่อมาถึงครั้งที่ 10 ซึ่งเป็นครั้งที่ผู้ฝึกไม่สามารถงอแขนยกน้ำหนักขึ้นมาด้วยการเคลื่อนไหวแบบเคร่งครัดได้อีกต่อไป ผู้ฝึกจึงแอ่นหลังเล็กน้อย เหวี่ยงน้ำหนักขึ้นอีก 2-3 ครั้ง วิธีการนี้ทำให้กล้ามแขนด้านหน้าได้ออกแรงต่อไปได้อีก 2-3 ครั้ง ภายในเซ็ตนั้น ๆ แต่อย่าลืมว่า เมื่อผ่อนน้ำหนักลง (negative) สู่จุดเริ่มต้นควรผ่อนลงช้า ๆ ไม่พรวดพราด

       เห็นได้ว่า ยุทธวิธีนี้คือการเปลี่ยนจุดโน้มถ่วงตามหลักกลศาสตร์นั่นเอง

       มีท่าฝึกบางท่า ที่ผู้ฝึกไม่ควรนำเทคนิคนี้มาใช้ เช่นท่า SQUAT ผู้ฝึกไม่ควรย่อ หรือเหยียดขาด้วยวิธีขย่มน้ำหนัก เพราะจะทำให้หลังส่วนล่าง และเข่าบาดเจ็บได้ อีกท่าหนึ่งคือ BARBELL ROW ผู้ฝึกไม่ควรดึงคานบาร์เบลล์ เข้าหาท้อง โดยวิธีโยกลำตัว เพราะการฝึกเช่นนี้อาจจะเป็นอันตรายต่อหลังส่วนกลางและส่วนล่างได้

       เทคนิคชีต เร็ปนี้ ถ้าผู้ฝึกรู้จักใช้อย่างวิญญูชน จะช่วยเพิ่มขนาดของมัดกล้ามได้ ทั้งนี้และทั้งนั้นผู้ฝึกต้องสำเหนียกเสมอว่า การฝึกเพาะกาย ไม่ใช่มรรคาแห่งความอำเภอใจ หากแต่เป็นศิลปะวิธีสู่ความเป็นเจ้าของมัดกล้ามที่ทรงพลัง งดงาม และคมชัด


       ข้อควรระวังคือ ผู้ฝึกต้องนำเทคนิคนี้มาใช้เมื่อผ่านจุดอ่อนแรงแล้วเท่านั้น ทั้งนี้เพื่อให้การฝึกยังคงดำเนินต่อไป ทำให้การฝึกเข้มข้นขึ้น ไม่ใช่เริ่มใช้ตั้งแต่ครั้งแรกจนถึงครั้งสุดท้ายเพื่อให้การฝึกง่ายขึ้น และกล้ามเนื้อทำงานน้อยลง ซึ่งไม่ใช่ปรัชญาของการฝึกเพาะกาย

       จำนวนครั้งที่ใช้เทคนิคนี้ เป็นปัจจัยที่สำคัญต่อผลที่ได้รับจากการทดลอง WEIDER RESEARCH CLINIC ซึ่งเป็นสถาบันที่ค้นคว้าทดลอง เกี่ยวกับสรีรวิทยา ของการออกกำลังกาย ที่มีนายโจ วีเตอร์ปรมาจารย์เพาะกาย แห่งยุคเป็นหัวเรือใหญ่ ทำให้เราทราบว่าผู้ฝึกไม่ควรใช้วิธีชีต และ FORCED REPS (คลิ๊ก) มากกว่า 2-3 ครั้ง ต่อเซ็ต เพราะถ้ามากกว่านี้จะมีแนวโน้มว่า ผู้ฝึกกำลังใช้พลังงานทั้งตัว เคลื่อนไหวท่าฝึกมากกว่าพลังงานของกล้ามเนื้อส่วนที่ฝึก และจะไม่มีประโยชน์อันใดต่อการสร้างมวลเนื้อเลย

       คำว่า cheat ในที่นี้ก็คือ การโกงตัวเองในการฝึก หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง การฝึกท่าเพาะกายอย่างไม่เคร่งครัด ดังนั้นหลังการนี้บางท่านเรียกว่า loose style ทว่าเทคนิคนี้กลับกลายเป็นประโยชน์อย่างมาก ถ้าผู้ฝึกรู้จักวิธีการโกงอย่างถูกกาละ

- END -