Tuesday, April 7, 2020

Instinctive Principle


Instinctive Principle

( เพาะกายด้วยสัญชาติญาณ )

          คือ การเพาะกายโดยใช้ความรู้สึกของตัวเองเป็นสำคัญ ขึ้นอยู่กับว่า เรื่องที่จะใช้ความรู้สึกของตัวเองนั้น เป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไร ดังนี้คือ


วันนี้จะฝึกกล้ามเนื้ออะไร?
           ถ้าใช้กับคำถามที่ว่าวันนี้จะฝึกกล้ามเนื้ออะไร มักจะเป็นนักเพาะกายที่เล่นกล้ามถี่กว่าปกติ เช่นเล่นอาทิตย์ละ 6 วันถึง 7 วันเลย คือไม่สนใจว่ากล้ามเนื้อที่เลือกขึ้นมาเล่นวันนี้ จะไปทำให้ขาดการฝึกกล้ามเนื้อส่วนอื่นหรือไม่ในวงรอบนั้นๆ   ในทางกลับกัน ถ้าเป็นนักเพาะกายที่ใช้ตารางฝึกแบบเป็นวงรอบละ 3 หรือ 4 วันแล้วพักนั้น  หากใช้เทคนิคนี้ในการเลือกฝึก จะทำให้เกิดปัญหาการ "ขาดการฝึก" กล้ามเนื้อบางส่วนในวงรอบนั้นไป  เช่นพึ่งเล่นกล้ามขาไปเมื่อวันที่ 1  แต่พอมาถึงวันที่ 4 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของวงรอบ  ปรากฏว่าใช้เทคนิคนี้ คืออยากเล่นขาอีก  ถ้าทำเช่นนั้น ท่าที่จะต้องฝึกในวันที่ 4 ก็จะถูกยกเลิกไป  ถึงจะไปชดเชยเอาท่าที่ฝึกในวันที่ 4 เอาไปฝึกเป็นวันที่ 1 ของวงรอบต่อไป หากมีการใช้เทคนิคนี้ในวงรอบต่อไปอีก ก็จะต้องมีกล้ามเนื้อที่ถูกละเลย ไม่ได้รับการบริหารไปอีก เป็นต้น


วันนี้จะเล่นท่าอะไร?
           แบบนี้ นักเพาะกายนิยมใช้กันมาก อันหมายถึง เรารู้ก่อนแล้วว่าวันนี้ตามตารางฝึก จะต้องบริหารกล้ามต้นขา แต่เราจะไม่มีการวางแผนก่อนว่า จะฝึกต้นขา ด้วยท่าอะไร จำนวนกี่ครั้ง กี่เซท  ฝึกกี่ท่า จนกระทั่ง ถึงโรงยิมแล้ว ถึงจะคิดเดี๋ยวนั้นเลย  โดยใช้สัญชาติญาณแบบการนึกภาพในใจเอาว่า อยากเล่นเครื่องมือตัวไหน และเมื่อเล่นไปแล้ว ถ้ายังรู้สึกสนุกก็ทำต่อไปเรื่อยๆ ไม่มีกฎเกณฑ์ใดๆ อยากหยุดก็หยุด บางเซทอาจเล่นแค่เซทเดียว แต่เล่นเป็นร้อยครั้งก็ยังได้  หรือทั้งวันนั้น อาจเล่นท่าใดท่าหนึ่งจนหมดคาบการฝึกเลยก็ได้


พักฟื้นกี่วัน
           ในบางครั้ง เมื่อฝึกหนักมากๆ พอถึงวันพัก ซึ่งกำหนดไว้ว่าให้พัก 2 วัน แต่เมื่อเราใช้เทคนิคนี้แล้ว เราจะฟังร่างกายเราเอง หากมันบอกว่าร่างกายยังไม่พร้อมสำหรับวงรอบฝึกต่อไป เพราะเวลาพักฟื้นที่ผ่านมายังไม่พอเพียง เราก็จะเพิ่มวันหยุดพิเศษเพิ่มเข้าไปในตารางฝึกเป็นครั้งเป็นคราว เพื่อหลีกเลี่ยงอาการล้าเพราะฝึกมากเกินไป (Overtraining) สำหรับเทคนิคนี้เมื่อนำมาใช้ในเรื่องเวลาที่พักนั้น คุณต้องระวังตัวเองให้ดี เพราะหากปล่อยใจมากเกินไป คุณอาจจะหลุดจากแรงเหวี่ยงที่จะบังคับให้ตัวเองกลับมาเล่นกล้ามก็ได้ (หมายความว่า ให้เหตุผลในการอยากหยุดพิเศษบ่อยเกินไป จนเริ่มทำให้ขี้เกียจฝึกขึ้นมา เหมือนลูกตุ้มนาฬิกา ที่หมดแรงเหวี่ยง (แรงจูงใจ)  แล้วทำให้นาฬิกาไม่เดิน (ขี้เกียจเล่นกล้าม))


อธิบายเทคนิค Instinctive Principle โดยอาร์โนลด์  ชวาลเซเนกเกอร์

           ในช่วงแรกๆของการเพาะกาย คุณต้องสร้างโครงสร้างพื้นฐานสำหรับกล้ามเนื้อขึ้นมาก่อน โดยต้องปฏิบัติตัวในการฝึกอยู่ในกรอบกฎเกณฑ์ที่กำหนดไว้  แต่เมื่อเวลาผ่านไปมากเข้า มากเข้า จากการฝึกที่หลากหลาย คุณจะเริ่มค้นพบทีละน้อยว่าการฝึกรูปแบบไหน หรือท่าไหน ที่ให้ผลน่าชื่นชมกับกล้ามเนื้อของคุณเป็นเฉพาะตัว  สมัยที่ผมเริ่มเพาะกายใหม่ๆนั้น ผมฝึกในตารางฝึกเดียวกันมาตลอดหลายปี จนกระทั่งต่อมาผมได้รู้จักและบริหารร่วมกับ เดฟ  เดรเปอร์  ซึ่งเขาได้สอนผมถึงวิธีการใหม่ๆ นั่นคือ เดฟจะมาที่โรงยิม โดยคิดไว้ในใจแล้วว่าวันนี้จะฝึกกล้ามเนื้อส่วนไหน ฝึกด้วยท่าบริหารอะไร แต่ เขาจะเปลี่ยนสิ่งที่เขาคิดไว้ในใจนั้นไปทันที โดยขึ้นอยู่กับว่าเขา รู้สึก อย่างไรในวันนั้น  เช่น ตามปกติเขาจะเริ่มบริหารปีกด้วยท่า WIDE - GRIP CHIN เป็นท่าแรกเสมอ  แต่เขาอาจจะเปลี่ยนใจไปบริหารท่า BARBELL ROW เป็นท่าแรกแทน แล้วเอาท่า WIDE - GRIP CHIN ไปเป็นท่าสุดท้ายสำหรับการบริหาร  เดฟ สอนผมว่า เขาต้องเรียนรู้ที่จะเชื่อใจความรู้สึกของตนเอง แล้วนำสิ่งนั้นเป็นตัวชี้นำว่าวันนั้นเขาจะบริหารแบบใด

           ท่าบริหารธรรมดาเช่น BENCH PRESS ซึ่งตามปกติเข้าบริหาร 15 เซท แต่เมื่อใช้เทคนิคนี้ เดฟจะบริหารด้วยเซทที่น้อยลง แต่ใช้น้ำหนักมากๆ หรือบางครั้งก็บริหารด้วยน้ำหนักน้อย แต่มากเซทขึ้น หรือบางครั้งก็บริหารด้วยความเร็วที่เร็วหรือช้ากว่าปกติ   ผมเรียนรู้จากเดฟว่า ร่างกายของเราจะมี จังหวะ ของตัวเอง ซึ่งอาจจะไม่เท่ากันในแต่ละวัน แต่การจะเรียนรู้จังหวะที่ว่านี้ หรือเรียนรู้ที่จะใช้เทคนิคนี้นั้น คุณจะต้องผ่านการฝึกฝนในรูปแบบปกติวันแล้ววันเล่า ปีแล้วปีเล่าเสียก่อน คุณถึงจะนำเทคนิคนี้มาใช้ผสมผสานเข้าไปในตารางฝึกของคุณได้

- END -