Tuesday, April 7, 2020

Priority Training Principle


Priority Training Principle

             เป็นเทคนิคเรียงลำดับก่อนหลังการบริหารกล้ามเนื้อ ว่าชิ้นใดบริหารก่อนชิ้นใด แต่ผู้ที่จะใช้เทคนิคนี้ได้ จะต้องมีความรู้ค่อนข้างลึกซึ้งพอสมควร เนื่องจากใช้หลายทฤษฎีประกอบกัน บางท่านบอกว่า ต้องบริหารไบเซบไว้ตั้งแต่เย็นเมื่อวาน แล้วมาบริหารหน้าอกในเช้าวันนี้ เหตุผลก็เพื่อให้กล้ามแขนล้า เวลาบริหารท่า Benchpress จะได้ใช้แรงจากหน้าอกมากๆ (เพราะไบเซบล้า จึงออกแรงน้อยลง) แต่บางท่านบอกว่า ต้องบริหารกล้ามเนื้อชิ้นเล็ก คือไบเซบ หลังจากการบริหารกล้ามเนื้อชิ้นใหญ่ คือหน้าอก เท่านั้น จึงเห็นได้ว่า หากท่านผู้ปฏิบัติไม่มีความรู้ตรงนี้มากพอ ก็จะสับสน ซึ่งความจริงความแตกต่างของสองทฤษฎีนี้คือ จุดประสงค์ในการบริหาร ว่าเพื่ออะไร ถ้าเพื่อประกวดเพาะกาย ก็ใช้ลูกน้ำหนักมาก ทำให้ไม่สามารถบริหารไบเซบต่อจากหน้าอกได้ อีกประการหนึ่งคือ เรื่องของคาบการบริหาร หากเล่นไบเซบ แยกขาดจากหน้าอกแล้ว การบริหารไบเซบก่อนหน้าอกก็ทำได้ แต่หากเป็นการรวมบริหารในคาบเดียวกัน การบริหารไบเซบก่อนหน้าอกเป็นเรื่องไม่ควรทำ (แต่ก็อีกนั่นแหละ มีข้อยกเว้นในย่อหน้าข้างล่างนี้อีก)

              ข้อยกเว้นคือ เมื่อเอาทฤษฎี Priority นี้ไปพูดถึงความสดชื่นของกล้ามเนื้อ บางทีการเปลี่ยนเอาไบเซบ ไปอยู่ก่อนหน้าอกในบางอาทิตย์ ก็จะได้ผลดีกว่า เพราะโดยปกติ เมื่อกล้ามเนื้อสดชื่น ย่อมจะออกแรงได้มาก และเมื่อเราบริหารหน้าอกก่อนไบเซบ ซึ่งเป็นเวลาที่กล้ามเนื้อสดชื่น หน้าอกก็จะบริหารได้ผลดีไปตลอด จึงมีการออกแบบให้หมุนกล้ามเนื้ออื่น ขึ้นมาได้รับการบริหารตอนที่สดชื่นบ้าง เช่นเอาไบเซบ มาบริหารก่อนหน้าอก เพื่อให้ไบเซบได้รับการบริหารตอนสดชื่นนั่นเอง

              ตารางบริหารของนักเพาะกายหลายคน จะเป็นแบบตายตัวเช่น วันจันทร์บริหารต้นขา หน้าอก ฯลฯ วันอังคารบริหารปีก หลังแขน ฯลฯ หยุดวันพุธ แล้วเริ่มวันพฤหัส ด้วยตารางเดียวกับวันจันทร์ ซึ่งจะเห็นได้ว่า กล้ามต้นขาจะถูกบริหารตอนที่สดชื่นทุกครั้ง นั่นคือ เป็นกล้ามเนื้อชิ้นแรกที่ได้รับการบริหารหลังจากการพักผ่อนวันพุธ และวันเสาร์อาทิตย์   ดังนั้นจึงมีนักเพาะกายอีกหลายคนเสนอว่าควรใช้เทคนิค Priority เพื่อสลับเอากล้ามเนื้ออื่นมาบริหารก่อนกล้ามต้นขาบ้าง เพื่อจะได้รับความสดชื่นของการได้รับการบริหารเป็นชิ้นแรก ถ้วนหน้ากัน

อธิบายเทคนิคนี้โดยอาร์โนลด์  ชวาลเซเนกเกอร์
              ไม่ว่าคุณจะแข็งแกร่งแค่ไหน รับประกันได้ว่าคุณไม่สามารถบริหารท่าท้ายๆของวันฝึกโดยมีความสดชื่น หรือพลังงานในตัวเท่ากับที่มีตอนบริหารท่าแรกๆของวันได้ ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของคุณ ที่ควรจะนำกล้ามเนื้อที่คุณคิดว่าขาดการพัฒนา จับเอาไปบริหารตอนที่คุณยังสดชื่นอยู่ ผมขอยกตัวอย่างคุณ ทอม แพลทซ์ ที่ค้นพบประโยชน์จากเทคนิคนี้เอาหลังจากที่เขาพึ่งชนะรายการมิสเตอร์ยูนิเวอร์สได้สดๆร้อนๆ  เขารู้ดีด้วยตัวเองว่าร่างกายท่อนล่างของเขา ก้าวล้ำหน้าร่างกายส่วนบนของเขามาก  ดังนั้นเขาจึงเริ่มใช้เทคนิคนี้ โดยบริหารร่างกายท่อนบนก่อนในวันแรก โดยเน้นกล้ามปีกและแขนเป็นพิเศษ จากนั้นในวันรุ้งขึ้นเขาจึงจะเล่นร่างกายท่อนล่าง และด้วยการทำเช่นนี้ ทำให้ร่างกายท่อนบนเขาพัฒนาเร็วมาก จนได้ถึงอันดับ 3 มิสเตอร์โอลิมเปีย ปี 1981 (พ.ศ.2524) ซึ่งกรรมการผู้ให้คะแนนบางคนในปีนั้น ถึงกับให้แต้มทอม ถึงอันดับ 1 ด้วยซ้ำ    สำหรับตัวผมเองนั้น ผมใช้เทคนิคนี้กับกล้ามน่องของผม นั่นคือผมจะบริหารกล้ามน่องก่อนกล้ามเนื้อชิ้นอื่นในทุกๆวันที่บริหาร คุณจึงได้เห็นพัฒนาการกล้ามน่องของผม จากการเป็นกล้ามเนื้อที่เสียคะแนนจากกรรมการที่สุด มากลายเป็นจุดที่ดึงดูดสายตาคนได้มหาศาล


END -