Wednesday, April 8, 2020
SPLIT SYSTEM TRAINING
SPLIT SYSTEM TRAINING
การบริหารอย่างหนักหน่วง โดยใช้เทคนิคการบริหารที่ถูกต้องและยังให้เวลากล้ามเนื้อได้ฟื้นตัวเต็มที่ สิ่งพวกนี้ ยิ่งมี "มาก" ก็ยิ่งดี เพราะมันจะทำให้กล้ามคุณโต แต่คำว่า "มาก" นี้ หากนำไปใช้ผิดๆ เช่นเอาไปใช้กับการบริหารกล้ามเนื้อทั้งตัวในคราวเดียว โดยยึดหลักการว่า "มาก" คือดี คุณจะพบว่าไฟแห่งความกระตือรือร้นของคุณ เสี่ยงต่อการดับไปดื้อๆทั้งๆที่ยังบริหารร่างกายไม่ครบทุกส่วนในวันนั้น
ในสมัยแรกๆเมื่อแชมเปี้ยนอย่าง จอห์น กริเม็ค และ แคลนซี่ รอส มีชื่อเสียงโด่งดัง รูปแบบการบริหารที่ใช้สมัยนั้นคือ การบริหารทีเดียวให้ครบทุกส่วน แล้วทำซ้ำอย่างนี้ 3 รอบใน 1 อาทิตย์ การที่เขาทำเช่นนั้นได้เป็นเพราะว่ากล้ามเนื้อส่วนหนึ่งบริหารเพียง 3 - 4 เซทเท่านั้น (สมัยนี้ กล้ามเนื้อส่วนหนึ่งอย่างน้อยต้องบริหาร 16 เซทเป็นอย่างต่ำ เช่นบริหารท่าละ 4 เซท บริหาร 4 ท่า ก็คือรวมทั้งหมดได้ 16 เซท - webmaster) ต่อมาเมื่อการเพาะกายมีวิวัฒนาการมากขึ้น ความจริงก็เริ่มปรากฏเด่นชัดขึ้นเรื่อยๆว่า ต้องบริหารให้ถูกต้องเท่านั้น จึงจะสร้างความสมส่วนและพัฒนาร่างกายได้อย่างแท้จริง คำว่า "บริหารให้ถูกต้อง" นั้นคืออะไร การบริหารให้ถูกต้องก็คือการบริหารที่ต้องมีความหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นความหลากหลายในการเลือกใช้ท่าบริหาร ,ความหลากหลายในการบริหารกล้ามเนื้อจากหลายมุม และจำนวนเซทที่ใช้สำหรับท่าบริหาร ก็ต้องมากเพียงพอที่จะทำให้เกิดการพัฒนากล้ามเนื้อด้วย ทั้งหมดนี้จึงจะเป็นการกระตุ้นเส้นใยกล้ามเนื้อให้เติบโตได้ดีที่สุด แต่นั่นหมายถึงอะไร? นั่นหมายถึงว่าหากคุณบริหารทีเดียวให้ครบทุกส่วนแบบที่นักเพาะกายรุ่นก่อนทำ แล้วเอามาผสมกับความหลากหลาย ที่เราพึ่งพูดถึงไป ผลที่ออกมาคือ การบริหารอันยาวนานที่อาจทำให้ไฟแห่งความกระตือรือร้นมอดดับลงดังที่พูดไว้ในย่อหน้าแรก ดังนั้น รูปแบบการบริหารแบบ Split System Training จึงได้ถือกำเนิดขึ้นเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว
รูปแบบบริหารแบบ Split System Training คือการแบ่งตารางฝึกของคุณออกเป็นส่วนๆ มีจุดประสงค์เพื่อหลีกเลี่ยงการฝึกกล้ามเนื้อทุกชิ้นในคราวเดียวเหมือนก่อน ซึ่งบางคนก็แบ่งกล้ามเนื้อทั้งร่างกายเป็น 3 ส่วน แล้วแยกบริหารคราวละส่วน (เช่นวันที่ 1 บริหาร หน้าอก ไบเซบ ,วันที่ 2 บริหารปีก ไทรเซบ ,วันที่ 3 บริหาร ต้นขา และบ่า เป็นต้น) ,บางคนก็แบ่งกล้ามเนื้อทั้งร่างกายเป็น 2 ส่วน แล้วแยกบริหารคราวละส่วน (เช่นวันนี้เล่นกล้ามส่วนบนเหนือสะดือขึ้นไป ,พรุ่งนี้เล่นกล้ามส่วนล่างใต้สะดือลงมาเป็นต้น) หลักเกณฑ์ที่ใช้พิจารณาว่าจะแบ่งส่วนฝึกแบบใดนั้น ขึ้นอยู่กับจุดประสงค์ของคุณว่า กำลังบริหารเพื่ออะไร เช่น บริหารเพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กล้ามเนื้อเท่านั้น (ไม่เน้นความชัด) หรือว่าเป็นการบริหารเพื่อสร้างรูปทรงและความคมชัดสำหรับการแข่งขัน (ไม่เน้นความแข็งแกร่ง)
- END -