ภาวะเมทาบอลิกซินโดรม ( Metabolic Syndrome )
คือ ภาวะที่เกิดจากระบบการเผาผลาญของร่างกายทำงานผิดปกติไป ทำให้เกิดภาวะอ้วนลงพุง น้ำหนักตัวเกิน น้ำตาลในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง และไขมันในเลือดสูง ซึ่งภาวะต่างๆ เหล่านี้ เมื่อเป็นนานๆ เข้าก็จะส่งผลให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด โรคหลอดเลือดสมองที่ทำให้เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต ตามมาได้
ภาวะอ้วนลงพุง ( Central Obesity ) คืออะไร?
ภาวะอ้วนลงพุง (Central Obesity) คือการที่ร่างกายมีไขมันสะสมบริเวณช่องท้องมากขึ้น ซึ่งไขมันเหล่านี้จะทำให้เกิดปฏิกิริยาการอักเสบ ความสมดุลของฮอร์โมนผิดปกติ และเกิดภาวะดื้อต่ออินซูลิน ( Insulin Resistance ) เมื่อการออกฤทธิ์ของอินซูลินทำได้ไม่ดี จึงมีน้ำตาลสะสมในเลือดสูง และทำให้เป็นโรคเบาหวานได้ในที่สุด
เกณฑ์ในการตรวจ วินิจฉัยภาวะเมทาบอลิกซินโดรม ( Metabolic Syndrome )
ในการประเมินว่าผู้ป่วยมีภาวะเมทาบอลิกซินโดรมหรือไม่นั้น จะต้องพิจารณาถึงความผิดปกติ ว่าต้องมีอย่างน้อย 3 ใน 5 ข้อ นี้
1. ความยาวรอบเอว ชาย ≥ 36 นิ้ว หรือ 90 เซนติเมตร และหญิง ≥ 32 นิ้ว หรือ 80 เซนติเมตร
2. ระดับน้ำตาลหลังอดอาหาร ≥ 100 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร หรือ ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคเบาหวาน
3. ระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือด (TG) ≥ 150 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร
4. ระดับ HDL คอเลสเตอรอล < 40 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรในเพศชาย และ < 50 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรในเพศหญิง
5. ระดับความดันโลหิต ≥ 130/85 มิลลิเมตรปรอท หรือได้รับยารักษาภาวะความดันโลหิตสูง
การรักษาภาวะเมทาบอลิกซินโดรม ( Metabolic Syndrome )
การรักษาภาวะเมทาบอลิกซินโดรม ทำได้ 3 วิธีหลักๆ ดังนี้
1. ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม โดยต้องควบคุมปริมาณและชนิดอาหารที่กินให้เหมาะสม เน้นกินโปรตีนเป็นหลัก เสริมด้วยผัก ผลไม้ ลดอาหารประเภทแป้งและอาหารไขมันสูง เช่น อาหารทอด ผัด และต้องลดอาหารเค็ม หรืออาหารโซเดียมสูง
2. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ โดยเน้นการคาร์ดิโอ หรือการออกกำลังแบบแอโรบิก และต้องออกกำลังกายแบบเสริมสร้างกล้ามเนื้อด้วย โดยทำให้ได้อย่างน้อย 3 ครั้งต่อสัปดาห์ ครั้งละ 30-60 นาที ทั้งนี้เมื่อออกกำลังกายแล้วก็ต้องควบคุมปริมาณแคลอรีจากอาหาร เพื่อช่วยให้น้ำหนักลดลง หัวใจแข็งแรงขึ้น ทำให้ระดับความดันโลหิตดีขึ้น ระดับน้ำตาลและไขมันชนิดเลวในเลือดลดลง ซึ่งเป็นผลดีต่อสุขภาพในระยะยาว
3. การใช้ยาเพื่อลดความอยากอาหาร หรือการผ่าตัดกระเพาะเพื่อลดน้ำหนัก เหมาะกับคนที่มีน้ำหนักตัวมากๆ และลดด้วยวิธีอื่นไม่ได้ผล ทั้งนี้ควรปรึกษาแพทย์ และอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโดยเฉพาะเท่านั้น
พญ. นารีลักษณ์ กลิ่นสุคนธ์ ( นิ่มน้อย ) แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคเบาหวานและต่อมไร้ท่อ ศูนย์เบาหวานและต่อมไร้ท่อ โรงพยาบาลพญาไท
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.phyathai.com/th/article/3862-metabolic_syndrome__เมทาบอลิกซินโดรม__กับ
Tuesday, May 21, 2024
Metabolic-Syndrome
- จบ -