Sunday, July 18, 2021

เกร็ดความรู้ อาทิตย์ที่ 3 และอาทิตย์ที่ 4 C

 

  

 
คำแนะนำ หลังฝึกเสร็จ ของวันศุกร์ที่ 3 :

       อาทิตย์หน้าเราก็จะยังฝึกแค่ 2 วันคือวันอังคารกับวันศุกร์อยู่นะครับ เพราะร่างกายกำลังปรับตัวอยู่ คงต้องมีอาการปวดกล้ามเนื้ออยู่ ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติครับ ก็เลยให้เวลาพักมากหน่อย แต่หลังจากอาทิตย์ถัดไปแล้ว เราจะใช้ตารางนักเพาะกายชั้นสูงกันแล้วนะครับ เพราะฉะนั้น คุณจะมีเวลาจัดกล้ามเนื้อให้เข้าที่เข้าทางก็แค่อาทิตย์นี้กับอาทิตย์หน้าเท่านั้นครับ


  - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -     

วันรุ่งขึ้นทำไมกล้ามเนื้อถึงระบม?



       หลักการเพาะกาย คือการใช้กล้ามเนื้อ ให้ออกแรงต้านกับวัตถุเช่น ดัมเบลล์ ,บาร์เบลล์ ฯลฯ จน เกินกำลัง  /  ซึ่งการที่ออกแรงจนเกินกำลังนี้ ก็เลยมีผลทำให้เส้นใยกล้ามเนื้อ ( Muscle Fiber ) ฉีกขาด ( คนละแบบกับกล้ามเนื้อฉีกนะครับ )  เมื่อเส้นใยกล้ามเนื้อฉีกขาดตามภาพข้างบนนี้แล้ว ร่างกายก็จะเรียกเอาโปรตีน วิตะมิน ในร่างกายมาซ่อมแซมเส้นใยดังกล่าว และสร้างปฏิกิริยาอัตโนมัติ โดยการพอกเส้นใยบริเวณดังกล่าวให้หนาขึ้น  เพื่อครั้งต่อไปถ้าต้องรับน้ำหนักที่ทำให้ฉีกนี้อีก เส้นใยนี้ก็จะไม่ฉีก   ซึ่งการพอกให้เส้นใยหนาขึ้นนี้ ก็คือการที่กล้ามใหญ่ขึ้นมานั่นเอง ( ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของนักเพาะกาย ที่ต้องเพิ่มปริมาณลูกน้ำหนัก ให้หนักขึ้นกว่าครั้งก่อนๆ เพื่อให้เส้นใยนี้ฉีกอีก )

       ทุกๆครั้ง ขณะที่ นักเพาะกายกำลังยกลูกน้ำหนัก  ร่างกายจะไปเอาพลังงานมาจากปฏิกิริยาเคมีในร่างกาย เราเรียกปฏิริยานั้นว่า "แอนาโรบิค" ( Anaerobic ) หมายถึงว่า การสร้างพลังงานโดยไม่ใช้ก๊าซออกซิเจน ( นี่คือ สาเหตุที่การเพาะกายอยู่คนละขั้วกับการเล่นแอโรบิค ( Aerobic ) เช่นวิ่ง หรือว่ายน้ำ เพราะการวิ่งหรือว่ายน้ำนั้น ต้องใช้ก๊าซออกซิเจนในกระบวนการสร้างพลังงาน หรือเรียกว่า "แอโรบิค" ดังนั้น การวิ่ง ,ว่ายน้ำ ,เตะบอล ,เล่นบาส เต้นแอโรบิค จึงขัดขวางการสร้างกล้ามเนื้อจากการเพาะกายนั่นเอง ) ย้อนกลับมาที่กระบวนการ "อนาแอโรบิค" อีกครั้ง ว่าขณะที่ร่างกายสร้างพลังงานโดยไม่ใช้ก๊าซออกซิเจนนี้ ได้เกิด "ของเสีย" ขึ้นมาจากกระบวนการดังกล่าว เราเรียกของเสียนี้ว่า "กรดแลคติค ( Lactic Acid )" ไปเกาะค้างอยู่ที่เส้นใยกล้ามเนื้อที่กำลังบริหารอยู่นั้น  ซึ่งเป็นไปตามธรรมชาติและไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ถ้าใช้กล้ามเนื้อตรงไหนมาก กรดแลคติคก็จะไปอยู่ตรงนั้นมาก และทำให้กล้ามเนื้อส่วนนั้นระบม

       อย่างไรก็ตาม เมื่อเริ่มบริหารกล้ามเนื้อส่วนใดในครั้งแรกๆของการเริ่มเพาะกายของคุณ ( รวมไปถึงคนที่หยุดเล่นไปนาน แล้วกลับมาเล่นใหม่ ) วันรุ่งขึ้นคุณจะเริ่มระบมกล้ามเนื้อที่คุณเล่นกล้ามนั้น ( เพราะเจ้ากรดแลคติคตัวนี้แหละ ) กินเวลาหลายวันเลยทีเดียว ซึ่งเป็นเรื่องปกติ ไม่ต้องตกใจ และเมื่อพ้นระยะเดือนถึงสองเดือนแรกไปแล้ว คุณจะไม่ทรมานเพราะเรื่องระบมนี้อีกเพราะร่างกายจะปรับตัวจนชิน ( ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ผมออกแบบตารางฝึก ให้เริ่มจากการใช้น้ำหนักเบาๆ และเวลาพักหลายวันก่อน แล้วจะค่อยหนักขึ้นภายหลังเมื่อคุณเริ่มชินแล้วนั่นเอง )  แต่ถ้าคุณหยุดเล่นไป 4 - 5 เดือนแล้วกลับมาเล่นใหม่ คุณก็จะต้องมาเจอ "ด่านแห่งความปวด" นี้อีกครับ

       ความเจ็บปวดจากอาการ "ระบม" ตามที่พูดไปข้างต้น จะหายไปภายใน 1 - 2 เดือนเท่านั้น  ส่วนหลังจากนั้น อาการปวดที่เกิดขึ้นจากการเล่นกล้าม จะเป็นสิ่งที่ดีทันที เพราะนั่นแปลว่า คุณบริหารได้หนักพอที่จะทำให้เส้นใยกล้ามเนื้อฉีกขาดตามที่พูดไว้ในย่อหน้าแรกนั่นเองครับ 

- END -