Monday, March 30, 2020

Cooldown


Cooldown

      หลังจากที่ได้ออกกำลังกายติดต่อกันเป็นเวลานาน อย่าลืมว่าเมื่อจะเลิกออกกำลังกาย ห้ามหยุดออกกำลังกายทันทีทันใด จะต้องผ่อนคลายให้ร่างกายเย็นลงช้าๆ หรือที่เรียกว่า cool-down ซึ่งความสำคัญอย่างยิ่ง ป้องกันไม่ให้เกิดอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ หรือแม้กระทั่ง ช่วยผลักดันเลือดที่ตกค้างตามกล้ามเนื้อตามร่างกายที่แขน ที่ขา กลับสู่หัวใจให้เพียงพอ หลังจากออกกำลังต่อเนื่องกันนาน 30 นาที ค่อยๆลดความแรงของการออกกำลังกายลงช้าๆ ก่อนหยุดโดยใช้เวลา 5-10 นาที ตามด้วยการเหยียดเอ็นกล้ามเนื้อ และข้อต่างๆ เหมือนกับช่วงอบอุ่นร่างกาย

ประโยชน์ของการผ่อนกาย ( Cool down )

       1.ป้องกันอาการหน้ามืด เป็นลม ความดันโลหิตต่ำ เลือดไปเลี้ยงสมองลดลง หรือกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด จากการคั่งของเลือดบริเวณกล้ามเนื้อ

       2.ลดปัญหาปวดเมื่อย หรือบาดเจ็บจากการออกกำลังกาย  เนื่องจากว่า ขณะที่เราออกกำลังกายหนักๆ ซึ่งใช้กล้ามเนื้อมัดใหญ่ หัวใจต้องส่งเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อที่ทำงานหนัก โดยบีบตัวให้แรงมากขึ้นและด้วยจังหวะที่เร็วขึ้น ในขณะที่กล้ามเนื้อได้รับเลือดมาก ก็จะหดตัวบีบเอาเลือดกลับไปยังหัวใจมากขึ้นเช่นกัน เป็นการรักษาวงจรการไหลเวียนของเลือดให้เป็นไปอย่างปกติ หากเราออกกำลังกายไปเรื่อยๆระบบวงจรนี้ก็เป็นไปอย่างเรียบร้อย ถ้าหากเราหยุดออกกำลังกายทันทีกล้ามเนื้อจะหยุดหดทันทีด้วย เป็นผลให้มีเลือดคั่ง ในส่วนต่างๆของร่างกายเป็นจำนวนมาก หัวใจที่ยังเต้นเร็ว และแรงอยู่นั้นก็จะได้รับเลือดไม่พอเกิดการขาดเลือดอย่างทันทีด้วย

       เช่น เรากำลังวิ่งด้วยอัตราเร็วสูงอยู่ ก็ค่อยๆลดช้าลง ช้าลงๆแล้วกลายเป็นเดิน ท้ายที่สุดก็จะมีการยืดเหยียด เพราะหากหยุดออก กำลังกายทันทีทันใด จะทำให้เลือดที่ไหลเวียนกลับสู่หัวใจน้อยลง โดยเลือดจะคั่งค้างอยู่ที่หลอดเลือดภายในกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะกล้ามเนื้อของขา ( Pooling Effect ) ส่งผลให้ปริมาณเลือดที่บีบออก จากหัวใจเพื่อส่งไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกายลดลง โดยเฉพาะสมอง จึงทำให้เกิด อาการหน้ามืดเป็นลมได้ เราจึงต้องใช้เวลา อย่างน้อย 5-10 นาที ในการปรับตัว คือค่อยๆลดชีพจรลงจนเป็นปกติ

โดยสรุป - Warm up ป้องกันการบาดเจ็บ cool down ป้องกันการปวดเมื่อย ป้องกันไม่ให้เราขาดเลือดไปเลี้ยงหัวใจได้ รู้แบบนี้แล้วหล่ะก็...อย่ามองข้ามการ Warm up และ Cool down กันนะครับ

- END -