Tuesday, March 31, 2020

Fresh Muscle


หลักความสดชื่นของกล้ามเนื้อก่อนฝึก


      เรื่องความสดชื่น (Fresh) ของกล้ามเนื้อก่อนฝึกนั้น  มีความสำคัญกับการเล่นกล้ามเป็นอย่างมาก  นักเพาะกายหลายคน สละเวลาอันมีค่าของตนโดยยอมไปโรงยิมวันละ 2 ครั้ง (คือเช้าและบ่าย) เพียงเพื่อจะศิโรราบกับหลักการนี้ 
       สมมติว่าในวันนี้  คุณจะต้องเล่นกล้ามเรียงลำดับแบบนี้คือ ปีก แล้วก็ต่อด้วยไทรเซบ สิ่งที่เห็นได้ชัดคือ เวลาที่คุณเล่นกล้ามไทรเซบนั้น ความสดชื่นมันจะเหือดหายไปเกือบหมดแล้ว (ตั้งแต่เล่นกล้ามปีก เพราะตอนเล่นกล้ามปีก ร่างกายได้ดึงเขาขุมพลังในร่างกายไปใช้เกือบหมดแล้ว โดยมีการสันดาปสารเคมีในร่างกาย อีกทั้งยังต้องสูญเสียเกลือแร่ออกมากับเหงื่อด้วย)  ดังนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือคุณต้องทู่ซี้เล่นกล้ามไทรเซบไปอย่างนั้น    ลองนึกถึงเวลาที่คุณหิวมากๆสิครับ  เวลาเอาข้าวกับไข่เจียวธรรมดามาวางให้กิน คุณก็กระโจนเข้าใส่เหมือนเสือตะปบเหยื่อ และรู้สึกว่าข้าวไข่เจียวนั้นอร่อยจริงๆ  แต่หลังจากที่คุณทานข้าวนั้นจนอิ่มแล้ว เขาเอา หูฉลาม มาเสริฟต่อ คุณก็จะรู้สึกเฉยๆกับหูฉลามนั้นแล้ว ก็ทู่ซี้กินไปโดยไม่รู้สึกเหมือน "เสือตะปบเหยื่อ" ตอนที่หิวแล้วเจอข้าวไข่เจียวในครั้งแรก  นักเพาะกายก็เหมือนกัน  ตอนก่อนเล่นกล้าม เขาก็มีความสดชื่น และเล่นกล้ามในช่วงแรกๆได้อย่างเมามันส์ แต่พอช่วงท้ายๆก็จะเริ่มแผ่วแล้ว ซึ่งก็เป็นไปตามหลักธรรมชาติครับ

       การที่นักเพาะกายยอมซื้ออาหารเสริมแพงๆพวกครีเอทีน ,เบต้าอะลานีน ,อาร์จีนีน ฯลฯ แยกออกไปจากอาหารเสริมโปรตีน (ซึ่งใช้ในการสร้างกล้ามเนื้อ) นั้น ก็เพราะอาหารเสริมพวกครีเอทีน ,เบต้าอะลานีน ,อาร์จีนีน จะช่วยรักษาความสดชื่นของกล้ามเนื้อได้ยาวนานกว่าคนที่ไม่ได้ทาน  ทำให้เวลาที่เล่นกล้ามไทรเซบต่อจากกล้ามปีกนั้น ไม่ต้องเล่นแบบซังกะตาย

       ในเมื่อเราไม่มีปัญญาจะหาซื้ออาหารเสริมแพงๆแบบนี้มากิน (เหมือนผม ฮ่า..ฮ่า..) เราก็ต้องใช้เทคนิคการรักษาความสดชื่นของกล้ามเนื้อไว้ ด้วยการแบ่งเวลาฝึกออกเป็นสองช่วง นั่นคือ เช้าฝึกปีก (ให้ฝึกกล้ามเนื้อชิ้นใหญ่ คือปีก ในช่วงเช้า)  แล้วกลับมานอนพัก กินอาหาร เอาน้ำตาลเข้าสู่กระแสเลือด เพื่อเรียกความสดชื่นกลับมาให้แก่ร่างกายและจิตใจ จากนั้น จึงกลับไปฝึกไทรเซบในตอนเย็น  ซึ่งในตอนฝึกไทรเซบนี้เอง คุณก็จะรู้สึกสนุกขึ้นกว่าตอนเล่นรวบยอดปีกกับไทรเซบพร้อมกัน  เพราะคุณได้ไปชาร์ทแบตให้ร่างกายคุณ ด้วยอาหาร ,น้ำตาล
 (ซึ่งสำคัญในแง่การให้พลังงาน) มาอย่างเต็มที่ในช่วงระหว่างวันนั่นเอง  (อนึ่ง คนที่ใช้อาหารเสริมแพงๆเพื่อขยายเวลาความสดชื่นในการเล่นกล้ามนั้น เมื่อผนวกกับการแยกการฝึกออกเป็นสองช่วงแบบนี้ ก็จะยิ่งเพิ่มอานิสงส์ที่ได้จากความสดชื่นของกล้ามเนื้อให้มากขึ้นไปอีกหลายเท่าตัวด้วยครับ)
       นักเพาะกายที่ประสบความสำเร็จ ล้วนแต่เห็นความสำคัญในเรื่องความสดชื่นของกล้ามเนื้อก่อนฝึก เขาจะพยายามทะนุถนอมความสดชื่นของกล้ามเนื้อเอาไว้จนกว่าจะถึงเวลาฝึก ประดูจการพยายามเลี้ยงก้อนน้ำบนใบบอน ไม่ให้กระฉอกออกไปข้างนอกเลยทีเดียว    ยกตัวอย่างเช่น ไม่ยอมไปเที่ยวดึกๆ ,ทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ฯลฯ ก็เพื่อชาร์ทแบตสำหรับการฝึกในครั้งถัดไป  ซึ่งเรื่องอย่างนี้เป็นสิ่งเฉพาะตัวสำหรับกีฬาเพาะกายครับ  โดยจะไม่พบในกีฬาชนิดอื่น ยกตัวอย่างเช่นกีฬาฟิตเนส  เขาจะให้วิ่งก่อนเล่นกล้าม เพื่อให้อัตราการเต้นของหัวใจและกระแสเลือด ได้อยู่ในระดับหนึ่ง พร้อมที่จะออกกำลังกายต่อไปได้ ซึ่งก็ถูกของเขา แต่ในกีฬาเพาะกายนั้น จะห้ามอย่างเด็ดขาด  เพราะทันทีที่นักเพาะกายไปวิ่งก่อนเล่นกล้าม ก็จะเสียเรื่องความสดชื่นของกล้ามเนื้อก่อนฝึกที่เราอุตส่าชาร์ทแบตมาไปอย่างน่าเสียดาย  ดังนั้น การวอร์มของนักเพาะกาย ก็คือการบริหารกล้ามเนื้อเฉพาะส่วนที่จะเล่นนั้น ด้วยน้ำหนักเบาๆ เพื่อเรียกเลือดไปหล่อเลี้ยงไปที่บริเวณที่เราจะเล่น  จะไม่ใช้การวิ่ง ซึ่งจะทำให้กระแสเลือดวิ่งไปทั่วตัว ตามหลักการของฟิตเนสเขา
       กล้ามเนื้อชิ้นแรกที่เราได้บริหารหลังจากการชาร์ทแบทมา  จะตอบสนองได้ดีที่สุด  บริหารได้สนุกที่สุด ยกตัวอย่างเช่น คุณเล่นกล้ามครั้งสุดท้ายเมื่อวันศุกร์  แล้วพักเสาร์ อาทิตย์  แล้วมาเริ่มเล่นต่อในวันจันทร์   กล้ามเนื้อที่คุณบริหารในวันจันทร์ จะได้รับอานิสงส์ของ "ความสดชื่นของกล้ามเนื้อก่อนฝึก" ได้อย่างเต็มๆ เพราะคุณมีเวลาชาร์ทแบตในวันเสาร์ และอาทิตย์ ด้วยการนอนหลับ ,การทานอาหาร ,การพักผ่อนหย่อนใจ  เหมือนกับเวลาที่คุณไปเรียนหรือไปทำงานในวันจันทร์ แล้วมีความรู้สึกสดชื่นนั่นแหละครับ

       ดังนั้น ปัญหาก็ต้องมีบ้าง เช่นว่า ถ้าตารางฝึกของคุณ 
Fix ตายตัวเลยว่าวันจันทร์ต้องฝึกหน้าอก  ผลก็คือหน้าอกคุณจะพัฒนาได้เร็วมาก แต่กล้ามเนื้ออื่นๆที่ทยอยฝึกตามมาในวันถัดๆไป ก็จะพัฒนาช้าลงไป (เพราะมีความสดชื่นก่อนการฝึก น้อยกว่าการฝึกกล้ามอกในวันจันทร์นั่นเอง)  วิธีแก้ที่ฝรั่งใช้กัน คือการ "สลับ" ตารางฝึก เอากล้ามเนื้อส่วนอื่นๆ มาฝึกในวันจันทร์บ้าง  เพื่อให้กล้ามเนื้อส่วนอื่นๆ ได้อานิสงส์ของ "ความสดชื่นของกล้ามเนื้อก่อนฝึก" นี่เอง

สรุปหลักการของความสดชื่นของกล้ามเนื้อก่อนฝึกคือ
       1.ส่วนของกล้ามเนื้อ (เช่น อก ,ปีก ,แขน ,ขา) ที่ได้รับการฝึกเป็นส่วนแรก หลังจากการพักผ่อนมา จะฝึกได้สนุกกว่า และได้ผลดีกว่าส่วนของกล้ามเนื้อที่จะฝึกในวันถัดๆไป  เพราะมีความสดชื่นของกล้ามเนื้อมากกว่า
       2.กล้ามเนื้อชิ้นแรก ที่ได้ฝึกก่อนกล้ามเนื้อชิ้นถัดไป เช่นในวันเดียวกัน ฝึกปีกและไทรเซบ เมื่อเราฝึกปีก เราก็จะฝึกได้สนุกกว่าการเล่นไทรเซบ เพราะมีความสดชื่นของกล้ามเนื้อมากกว่า (ยังไม่ล้า)
       3.ท่าบริหารท่าแรก (สำหรับกล้ามเนื้อชิ้นเดียวกัน) จะฝึกได้สนุกกว่า และได้ผลดีกว่าท่าถัดๆไป เพราะมีความสดชื่นของกล้ามเนื้อมากกว่า (ยังไม่ล้า)

- END -